แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงการประชุม ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติเห็นชอบการปรับปรุง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 โดยระบุว่า
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว(ล) 12375 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เรื่อง การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 โดยขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีนั้น
ธปท. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 1/2567 และเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาก จากทั้งการกู้เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะการก่อหนี้ผ่านเครื่องมือทางการเงินระยะสั้น
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการระดมทุนเพื่อทดแทนหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะข้างหน้า (refinancing risk) รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดการกระจุกตัวของภาระหนี้
อีกทั้งควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้ของ หนี้รัฐบาล และ หนี้รัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับหนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณนั้น ควบคู่ไปกับการติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการฯ ได้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ธปท. จะประสานงานกับกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิดเช่นที่เคยเป็นมา เพื่อให้การระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2 ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.สัญจร จังหวัดนครราชสีมา มีรายละเอียดประกอบด้วย
สำหรับการปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ รอบใหม่ เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน) จำนวน 269,000 ล้านบาท
รวมทั้งการปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 50,000 ล้านบาท
รวมไปถึงการปรับเพิ่มวงเงินแผนการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 29,200 ล้านบาท และการปรับเพิ่มวงเงินแผนการชำระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 25,339.17 ล้านบาท เป็นต้น