ตลาดจับตาโรดแมป ‘นโยบายเศรษฐกิจ’ รัฐบาลแพทองธาร

22 ส.ค. 2567 | 06:46 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2567 | 06:46 น.

Krungthai COMPASS ห่วงส่งออกต่ำ 2.0% จี้ภาคการผลิตไทยหาวิธีรับมือ หลังเสียมาร์เก็ตแชร์ในตลาดอาเซียน-สินค้านำเข้าแข่งขันสูง ‘ทีทีบี’ ชี้ตลาดจับตา “โรดแมปนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่” จะสานต่อระยะสั้นและจะกระตุ้นระยะยาวอย่างไร

KEY

POINTS

  • เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวที่ 1.9% และมีการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน
  • ควรมีการเตรียมงบประมาณและมาตรการรองรับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจโลก เช่น ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า
  • ความสำเร็จของเศรษฐกิจในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับ "โรดแมปนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่" และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือ สภาพัฒน์ฯ ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ทั้งปี 2567 จะขยายตัว 2.5% แต่ปรับกรอบแคบลงจากเดิม 2.0-3.0% เป็น 2.3-2.8 % หลังจากจีดีพีไทยไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจาก 1.6% ในไตรมาสแรก ปี67 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ขยายตัว 0.8% จากไตรมาสแรก รวมครึ่งแรกของปี 67 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ 1.9%

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและประมาณการณ์ปี 2567

อย่างไรก็ตาม สศช.มีข้อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการพุ่งเป้าเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อสรุปไม่นาน พร้อมแนะนำให้ควรจะเตรียมงบประมาณ/มาตรการรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากแนวโน้มความรุนแรง ทั้งความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้น

 นอกจากนั้น ภาครัฐควรจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงถัดไป ส่วนมาตรการ “ดิจิทัล วอลเล็ต”ถ้ารัฐบาลไม่ทำ ควรจะมีมาตรการอื่นมาเติม เพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมาตรการ“ดิจิทัล วอลเล็ต” นั้นควรดูทั้งทรัพยากรที่มี ทั้งแหล่งเงิน เครื่องไม้เครื่องมือหรือระบบ และจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ท่องเที่ยวแรงขับเคลื่อนหลัก

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist  ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีนี้ ยังมองที่ภาคท่องเที่ยวเป็นตัวหลักและการกลับมาของการลงทุนภาครัฐ ส่วนเครื่องยนต์อื่นยังไม่ชัดเจนนัก

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist  ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย

 สำหรับภาคการส่งออกจะมีบางสินค้าที่ได้อานิสงก์ตามวัฏจักรของอิเล็คทรอนิกส์ เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์(ตัวนี้จะมาช่วยพยุง)ไม่ต่างจากเกาหลีใต้ ซึ่งจีดีพีของประเทศนี้ก็ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS ยังคงไม่ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปีที่ประเมินไว้ 2.3% (กรอบล่างของสภาพัฒน์) เพราะกังวลเรื่องภาคการส่งออกน่าจะขยายตัวตํ่ากว่า 2.0%

ส่วนตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว Krungthai COMPASS ประเมินนักท่องเที่ยวไว้จำนวน 35-37 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับหลายสำนัก และไม่มีความท้าทายนัก เพราะครึ่งปีแรกนักท่องเที่ยวเข้ามาใกล้เคียง 18 ล้านคนแล้ว เพราะค่าเดินทางไม่แพงขึ้นราคานํ้ามันเริ่มลดลง จึงไม่ได้เป็นอุปสรรค

สำหรับไตรมาส2 ที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนที่ชะลอตัวตามคาดและยังเป็นประเด็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณของภาครัฐยังไม่ผ่านการพิจารณา (ไตรมาสที่ผ่านมา) แต่นอกเหนือจาการลงทุนของภาครัฐที่ชะละตัวแล้วก็แปลกใจกับการลงทุนของเอกชนที่ชะลอตัวลงมาก ซึ่งน่าจะเกี่ยวเนื่องกับงบประมาณรัฐ 

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องความท้าทายจากภาคอุตสาหกรรมที่เจอการแข่งขันจากสินค้านำเข้า ทั้งการนำเข้ามาขายในประเทศไทยและสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งเจอการแข่งขันในตลาดอาเซียนที่ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกหลัก ไม่ว่า เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ มาร์เก็ตแชร์สินค้าไทยในอาเซียนลดลงในระยะหลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวมาก

“ตัวเลขการลงทุนที่ลดลงไปมาก จึงเป็นโจทย์ของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ซึ่งไตรมาส 3 งบประมาณของภาครัฐออกมาแล้ว แนวโน้มน่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐน่าจะดีขึ้น แต่คงต้องลุ้นการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้เป็นท็อคออฟเดอะทาวน์คือ การแข่งขันสินค้านำเข้า”นายพชรพจน์กล่าว

แนะภาคการผลิตปรับตัวรับมือแข่งขันสูง

ดร.พชรพจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเสี่ยงในครึ่งปีหลัง ด้วยเทรนด์การแข่งขันจากภายนอกค่อนข้างสูงมาก จากสินค้านำเข้าทั้งสินค้านำเข้าและในตลาดอาเซียนที่ไทยเคยมีมาร์เก็ตแชร์เริ่มปรับลดลง ซึ่งเรื่องนี้จะไม่คลี่คลายด้วยตัวเอง โดยรวมภาคการผลิตต้องหาวิธีปรับตัวจะรับมือได้ดีอย่างไรและเพื่อจะอยู่ร่วมกับสถานการณ์นี้อย่างไร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศต้นทางการผลิตที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินค่อนข้างมาก 

เรื่องการแข่งขันจากจากสินค้านำเข้าหรือสินค้าไทยที่ส่งออกไปตลาดอาเซียนเป็นความเสี่ยงที่ใกล้ตัวมากกว่า ส่วนเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ กับเรื่องสงครามทางการค้ายังไกลตัวมากกว่า (ที่ผ่านมาเรามองเป็นปัจจัยใหญ่ของปีนี้ที่มองไว้ตั้งแต่ต้น)

ขณะเดียวกันไทยยังต้องหาวิธีรับมือกับ 2 ปัจจัยดังกล่าว ซึ่งทางภูมิรัฐศาสตร์ตลอด 6เดือนที่ผ่านมาผู้ส่งออกของไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมอยู่แล้ว กอร์ปกับค่าระวางเรือที่แพงขึ้น ขาดแคลนเรือหรือกำแพงภาษีเพิ่มจากสหรัฐ โดยภาคเอกชนต้องหาวิธีปรับตัวกัน 

ส่วนความเป็นจำเป็นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือนั้น มองว่า ด้วยภาพของเศรษฐกิจไทยอยู่ในโหมดชะลอตัว และงบประมาณปี67 ออกมาช้ากว่าปีก่อนๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบ การเร่งการเบิกจ่ายหรือ การเร่งการลงทุน (งบที่ค้างท่อ) ซึ่งการเร่งใช้งบประมาณ ยิ่งได้มากจะยิ่งช่วยเศรษฐกิจได้มาก

แนวโน้มการบริโภคเอกชนจะตํ่ากว่า 3.0%

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลTTB กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มครึ่งปีหลัง ttb Analytics มองว่า การบริโภคเอกชนมีแนวโน้มจะตํ่ากว่า 3.0% จากทั้งปีมองที่ระดับ 4% เพราะภาระหนี้ เศรษฐกิจชะลอ ซึ่งทุกคนเริ่มรู้สึกว่า ตึงขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชาประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลTTB

ดังนั้นจะไม่เห็นการบริโภคเอกชนกลับมาเติบโตที่ 6-7% มารองรับ และคงจะไปหวังพึ่งเครื่องยนต์ตัวอื่นเช่น การท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็น (หลังฟอร์มรัฐบาลแล้วการลงทุนรัฐบาลและการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาหรือไม่)

ทั้งนี้ ttb Analytics ยังคงประมาณการเติบโตจีดีพีเดิมที่ 2.6% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน แต่แนวโน้มรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวยังลดลงกว่าช่วงก่อนโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว 2.0%ต้นๆ เพราะยังไม่ใช่ระดับศักยภาพ ซึ่งเศรษฐกิจควรจะเติบโตในอัตรา 3%ขึ้นไป จึงต้องมีมาตรการกระตุ้นหรือทำนโยบายที่ให้มีความยั่งยืนทางการคลัง และการใช้งบประมาณได้อย่างเป้าหมาย (ตรงจุด)และมีประสิทธิภาพ

ประเด็นการแข่งขันจากสินค้าภายนอกนั้น การเข้ามาของสินค้าจากภายนอก ส่วนตัวไม่ทราบว่า ของพวกนี้สะท้อนอยู่ครบในจีดีพีของไทยหรือยังแต่มีผลต่อการส่งออกไทยแน่นอน ซึ่งการแข่งขัน ไม่ใช่แค่สินค้าจากจีน หรือเพื่อผู้บริโภคปลายนํ้าเสมอไป แต่ต้องมองต้นนํ้าด้วย เช่น เม็ดพลาสติก ถูกตีตลาด, อิเล็คทรอนิกส์-แผงวงจร 

จับตาโรดแมปนโยบายเศรษฐกิจ

ส่วนความเสี่ยงในครึ่งหลังของปีนี้ นายนริศกล่าวว่า เชื่อว่า ทุกคนจับตาที่ “โรดแมปนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่”ว่า จะสานต่อระยะสั้นอย่างไรและจะมีกระตุ้นระยะยาวอย่างไร เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะไม่เข้ามา ยิ่งหากจีดีพีติดลบ สัญญานจะไม่ดี

ขณะเดียวกันยังมองว่า นโยบายหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็นต้องออกมาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ซึ่งต้องรอทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะในระยะถัดไป ความไม่ชัดเจนของทิศทางนโยบายการลงทุนระยะยาวของไทย/ โรดแมป นโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน

ซึ่งระยะสั้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำให้สมดุลกับความยั่งยืนทางการคลัง เพราะหนี้สาธารณะไทยเพิ่ม ขาดดุลภาครัฐเพิ่ม แม้จะเทียบกับประเทศในภูมิภาคต่างก็มีภารหนี้หรือขาดดุลเพิ่ม แต่ไทยมีประเด็นการเติบตํ่าทีตํ่ากว่าประเทศในภูมิภาค ทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

“จีดีพีที่ออกมาไตรมาส2 ถือว่า ทรงตัว เพราะในเชิงตัวเลขมีประเด็นเรื่องฐานสูง ซึ่งไตรมาส 1 ขยายตัว 1.9% เรียกตํ่าที่สุด แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่แรงพอ ขณะที่ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา"

ที่น่ากังวลคือ การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว -6% สัญญาณหดตัวต่อเนื่องชัดเจน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะกระทบความสามารถในการเติบโตระยะยาว เพราะหากการลงทุนภาคเอกชนไม่ลงทุน โครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ไปไหน ศักยภาพของเศรษฐกิจก็จะไม่เติบโตและจีดีพีก็ไม่โตด้วย

ส่วนเครื่องงยนต์อื่นดีขึ้น ภาครัฐเบิกจ่ายดีขึ้น ส่งออกเติบโต 2% ไม่แย่ แต่ไม่ดี เพราะปีก่อนติดลบ 5% แต่มองไปข้างหน้าภาคส่งออกยังมีปัจจัยการแข่งขันที่จะมากระทบไม่ใช่แค่สินค้าจากจีน หรือเพื่อผู้บริโภคปลายนํ้าเสมอไป แต่ต้องมองต้นนํ้าด้วย เช่น เม็ดพลาสติกถูกตีตลาด, อิเล็คทรอนิกส์-แผงวงจร