ด่วน! แบงก์ชาติเปิดทางพิเศษช่วยลูกหนี้ ปรับหลักเกณฑ์แก้หนี้ครัวเรือน

08 ก.ย. 2567 | 11:47 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2567 | 12:04 น.

แบงก์ชาติปรับหลักเกณฑ์สินเชื่อใหม่ เพิ่มความยืดหยุ่นช่วยลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ครอบคลุมทั้งการโฆษณา การส่งเสริมวินัยทางการเงิน และการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

แบงก์ชาติได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศฉบับปรับปรุงนี้ ระหว่างวันที่ 5-20 กันยายน 2567 โดยมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในประเด็นสำคัญ ดังนี้สาระสำคัญของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ

1. การโฆษณา

  • ปรับปรุงแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อให้เหมาะสมกับ การส่งเสริมทางการตลาดของธุรกิจ และในขณะเดียวกัน ยังดูแลไม่ให้ เกิดการกระตุ้นให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินควร

2. กระบวนการขาย และการส่งเสริมวินัย และการบริหารจัดการ ทางการเงินในช่วงเป็นหนี้

  • กำหนดแนวทางการกระตุกพฤติกรรมลูกค้าให้มีวินัยทางการเงิน (Nudge) ก่อนเป็นหนี้ และระหว่างเป็นหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ตระหนัก ถึงความสามารถในการชำระหนี้ และมีแรงจูงใจที่จะเลือกชำระหนี้ใน ระดับที่เหมาะสมกับความสามารถของตน รวมทั้งชำระหนี้เพิ่มเท่าที่ ชำระไหว ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้ไม่เป็นหนี้นานและลดภาระดอกเบี้ยให้กับ ลูกหนี้ได้ในระยะยาว

3. การพิจารณาความสามารถ ในการชำระหนี้ (affordability)

  • ปรับปรุงแนวทางการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) เพื่อส่งเสริมการรวมหนี้และการ refinance ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ดีขึ้น รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของธุรกิจที่ดำเนินอยู่เป็นวงกว้างในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ภายใต้การดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

4. การให้ความ ช่วยเหลือลูกหนี้ ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD)

  • ปรับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) เพื่อสนับสนุนให้สามารถแก้หนี้เรื้อรังได้อย่างสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น โดยขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ภายใต้มาตรการเป็นไม่เกิน 7 ปี และผ่อนปรนให้ผู้ให้บริการสามารถพิจารณาคงวงเงินหมุนเวียนส่วนที่ยังไม่ได้เบิกใช้ของลูกหนี้ได้ตามความเหมาะสม

5. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ที่มีปัญหาการชำระหนี้ (ทั้งกรณี pre-emptive และ TDR)

  • กำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติของผู้ให้บริการได้ดียิ่งขึ้น

แบงก์ชาติให้เหตุผลในการปรับปรุงหลักณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (RL) ครั้งนี้ว่า หลังจากธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

โดยได้กำหนดบทบาท หน้าที่ของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การพัฒนาและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ การดูแลช่วยเหลือหนี้เดิม โดยเฉพาะหนี้เรื้อรังและหนี้เสีย ตลอดจนการดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายหนี้

รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกค้า (nudge) และส่งเสริมวินัยทางการเงินตลอด วงจรหนี้ เพื่อให้ประชาชนเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ให้บริการมีการจัดการด้านการให้บริการ อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจ ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี จากภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พบว่ายังคงมีลูกหนี้กลุ่ม เปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้ในปัจจุบันและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มมาก ขึ้น ตลอดจน ผู้ให้บริการได้รับความชัดเจนในการนำไปปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น

ที่มา: (ร่าง) ประกาศการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (RL) ฉบับปรับปรุง