ฟันธง กนง.ลดดอกเบี้ยตามเฟด 0.25% เงินเฟ้อต่ำ-ลดบาทแข็ง-ป้องเงินทุนไหลออก

20 ก.ย. 2567 | 22:00 น.

นักวิชาการฟันธง กนง.จ่อลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามเฟด ชี้ส่งผลดีมากกว่าเสีย ทั้งช่วยบาทอ่อนค่าลง เพิ่มขีดแข่งขันส่งออก ลงทุนเรียลเซ็คเตอร์ขยายตัว หนุนบริโภคโต เชื่อไม่กระทบเงินทุนไหลออก จากอัตราดอกเบี้ยไทยจะยังสูงที่ระดับ 2.25% ผลตอบแทนยังดี

ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ( FED / เฟด) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ 0.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจากอัตรา 5.25 ถึง 5.50% สู่อัตรา 4.75 ถึง 5.00% หลายฝ่ายจับตามองผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ทั้งทิศทางค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดเงินทุน ตลาดทุน และอื่น ๆ ซึ่งในมุมนักวิชาการมองอย่างไรนั้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จากการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐลง 0.50% คาดจะส่งผลให้ประเทศไทยโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่จะมีการประชุมในครั้งใหม่ คาดจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50% ต่อปี

ทั้งนี้หากไทยไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อย 0.25% คาดผลกระทบที่จะตามมาคือทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทของไทยจะแข็งขึ้นอีกไปอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจแข็งค่ามากถึง 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (จาก ณ วันที่ 20 ก.ย. 67 อยู่ที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งจะส่งผลกระทบมากต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกของสินค้าไทยจากสินค้าจะแพงขึ้นตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งที่ต้นทุนต่าง ๆ ยังคงเดิม

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 33 บาทต่อดอลลาร์เป็น 32 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้น 3% กรณี กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย จะส่งผลให้รายได้ส่งออกไทยประมาณ 10 ล้านล้านบาทต่อปี จะหายไปประมาณ 9 หมื่นล้านบาทต่อปี”

ขณะที่หาก กนง.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และมีผลให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงตาม จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า ทั้งช่วยลดภาระภาคธุรกิจที่กู้เงินไปแล้วในอัตราดอกเบี้ยสูง และที่จะกู้เงินใหม่ จะลดภาระดอกเบี้ยลง มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ตัวเลขการลงทุนเรียลเซ็คเตอร์ในไทยจะดีขึ้น รวมถึงตัวเลขการบริโภคจะดีขึ้น

นอกจากนี้จะมีผลให้อัตราแลกเปลี่ยนหรือเงินบาทไทยไม่แข็งค่ามากเกินไป โดยคาดเงินบาทไทยจะอยู่ที่ระดับ 33.50-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งดีต่อภาคการส่งออกกลับมามีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น

“ตอนนี้อย่างไรไทยก็ต้องลดดอกเบี้ย จะไปอ้างว่ายังไม่ลดเพราะเงินเฟ้อยังสูงไม่ได้แล้ว เพราะเวลานี้เงินเฟ้อไทยก็ลดลงมาก (เดือนส.ค. 67 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.35%) โดยเหตุผลส่วนหนึ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ลดดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบ 4 ปีในครั้งนี้คือ เงินเฟ้อสหรัฐกำลังลดลงสู่เป้าหมายที่ 2% ดังนั้นทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยควรลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ”

ต่อคำถาม หากไทยลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%(จาก 2.50% เป็น 2.25%) จะส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดทุน(ตลาดหุ้น)ของไทยหรือไม่นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ให้ความเห็นว่า  เงินทุนไม่น่าจะไหลออกมาก เพราะหากเทียบกับสหรัฐแล้ว ลดดอกเบี้ยลงถึง 0.50% แต่ไทยลดลงเพียง 0.25% ถือว่าไทยลดดอกเบี้ยลงน้อยกว่าสหรัฐ จึงไม่น่าจะมีผลมากต่อเงินทุนไหลออก เพราะผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยของไทยถือว่ายังสูงภายใต้เศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากอินโดนีเซีย) อัตราดอกเบี้ยระดับ 2% ถือว่ามีความเหมาะสมกับขนาดเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี โอกาสที่ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 0.50% ในการประชุมครั้งหน้าคงเป็นไปได้ยาก เพราะจะเกิดคำถามว่าก่อนหน้านี้ในช่วงที่นายเศรษฐา  ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เคยเรียกร้องให้ กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.50% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่ยอมลด หากรอบนี้จะลดลงถึง 0.50% ก็จะเกิดคำถาม "แสดงว่าก่อนหน้านี้ กนง.สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อย่างน้อย 0.25% แต่ทำไมไม่ลด"

“มองว่าช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ คงไม่เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออก เพราะหาก กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25 % ต่อปี ก็ยังถือว่ามีผลตอบแทนที่สูงพอสมควร ขณะที่จะส่งผลดีทำให้เงินบาทออ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกน่าจะขายสินค้าได้มากขึ้น

บริษัทในภาคการผลิตที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯน่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลบวกจากที่ไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้เร็ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน”