7 เดือน ทองแท่งทำกำไร 50% Gold Spot รับ 800 ดอลลาร์

01 ต.ค. 2567 | 10:43 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2567 | 10:43 น.

ศูนย์วิจัยทองคำยัน บาทแข็งไม่เกี่ยวกับทองคำ เหตุ 7 เดือน ทั้งยอดนำเข้าและส่งออกทองคำน้อยมาก  ไม่น่าส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท เผย 7 เดือน ทองแท่งทำกำไรแล้ว 50% Gold Spot รับ 800 ดอลลาร์ จับตา 3 ปัจจัยบวกระยะสั้น ชี้ทิศทางทองคำ

เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลุดระดับ 33 บาท มาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 32.91 บาทต่อดอลลาร์เมื่อคำวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งเป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือน นับจากสิ้นเดือนม.ค.2566 ก่อนจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย มาเปิดเช้านี้ (24 ก.ย.) ที่ระดับ 32.96 บาทต่อดอลลาร์   

การนำเข้า-ส่งออกทองคำแท่ง

การแข็งค่าของเงินบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า เป็นไปตามกลไกตลาดจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่เงินบาทไทยเคลื่อนไหวผัวนผวนมากกว่าภูมิภาค เพราะมีปัจจัยเฉพาะ จากการที่เงินบาทไทยผูกกับการซื้อขายทองคำมาก

ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สถานการณ์ซื้อขายทองคำของไทยช่วง 7 เดือนแรกปีนี้พบว่า ปริมาณนำเข้า 102.91 ตันเพิ่มขึ้น 54.29% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และส่งออก 59.29 ตันเพิ่มขึ้น 7.51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจทองคำค่อนข้างซบเซาช่วง 2-3ปี การนำเข้าก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

7 เดือน ทองแท่งทำกำไร 50% Gold Spot รับ 800 ดอลลาร์

“การแข็งค่าของเงินบาทรอบนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทองคำ เพราะถ้าดูจากตัวเลขตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนก.ค. การส่งออกน้อยที่สุดในรอบ 3ปีจากปี 2564 ที่ไทยส่งออกทองคำ 70 ตันและปีนี้เหลือ 59 ตันเท่านั้นเอง"

ขณะที่ค่าเงินบาทถึงเดือนกรกฎาคมเคลื่อนไหวที่ประมาณ 36บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มไม่น่าจะเกี่ยวข้อง เพราะไทยส่งออกทองคำ 15 ตัน ซึ่งทั้งยอดนำเข้าและส่งออกน้อยมาก การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทน่าจะเป็นไปตามเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์) โดยจะเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยคึกคักมากขึ้นในครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้การซื้อขายทองคำของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหลังการระบาดของโควิด-19 แต่สถิติก่อนโควิด-19 พบว่า ปริมาณนำเข้าสูง 280 ตัน และส่งออกมีปริมาณ 300 ตัน แต่ปี 2565 ปริมาณนำเข้าเหลือ 201.51 ตัน ส่งออก 123  ตันและปี 2566 ปริมาณนำเข้าเหลือ 128.22 ตันและส่งออกเหลือ 97.07 ตัน

ขณะที่ความต้องการทองคำนั้น กองทุนทองคำ(SPDR) จะเห็นว่า ช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะเป็นการขายทองคำออก ซึ่งคาดว่า น่าจะถือสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อรับดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับกว่า 5%ต่อปี โดยไม่ต้องเทรด ส่วนฝั่งเอเซีย จะมีจีนและสิงคโปร์ ที่มีแนวโน้มจะเก็บทองคำมากขึ้น แม้ว่าทางการจีนจะหยุดซื้อในเดือนมิถุนายน 2567จนถึงตอนนี้  เพราะราคาทองคำทำจุดสูงสุด โดยทางการจีนยังไม่มีแนวโน้มจะกลับเข้ามาซื้อทองคำ 

อย่างไรก็ตาม หลังเฟดปรับลดดอกเบี้ย (18ก.ย.67) เห็นสัญญาณเงินไหลออกมา อย่างกองทุน SPDR ก็เข้าซื้อทองคำ เชื่อว่า น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดอกเบี้ยขาลง ทำให้เงินไหลออกจากสกุลเงินดอลลาร์ เข้ามาลงทุนในทองคำ จึงมีส่วน ทำให้ราคาทองคำทำราคาสูงสุดครั้งใหม่อีกที่ 2,632 ดอลลาร์/ออนซ์(23 ก.ย.67) จากสถิติเดิมที่ 2,625 ดอลลาร์/ออนซ์(20ก.ย.67) 

สำหรับการเคลื่อนไหวราคาทองคำช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ การซื้อขายทองคำแท่งเดือนม.ค.ประมาณ 33,000 บาท ปรับขึ้นมาเป็น 40,000 บาท (ก.ย.67) โดยทำราคาสูงสุดช่วงเดือนเม.ย.ที่ 42,100 บาทและเดือน ก.ค.ที่ 42,150 บาท  หากซื้อได้ในราคาต่ำสุดเดือนม.ค.จะกำไรกว่า 16,000 บาทหรือทำกำไร 50% ส่วน Gold Spot ต่ำสุด 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสูงสุดที่ 2,632 ดอลลาร์/ออนซ์(23 ก.ย.67) จะสามารถทำกำไรได้ประมาณเกือบ 800 ดอลลาร์ 

ส่วนแนวโน้มราคาทองคำช่วงที่เหลือ ดร.พิบูลย์ฤทธิ์มองว่า ทิศทางปัจจัยบวกจะมีมากกว่าปัจจับลบ นำโดยแนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ยเฟด เพราะช่วงที่เหลือเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งหรือลดลงอีกประมาณ 50 สตางค์ในปีนี้ ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยเฟดลดลง สกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งสินทรัพย์อื่นที่อยู่คนละฝั่งกับดอลลาร์ย่อมจะกลับทิศเป็นขาขึ้น รวมถึงราคาทองคำ 

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “ อิสราเอล-ฮามาส”เริ่มขยายวง คือ “อิสราเอล-เลบานอล” ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกในระยะสั้นกับราคาทองคำด้วย และค่าเงินบาทก็มีผลกระทบราคาทองคำแท่งในประเทศ (ถ้าราคา Gold Spot ปรับขึ้น แต่ค่าเงินบาทแข็งค่า ราคาทองคำแท่งในประเทศอาจจะขึ้นได้ตามสัดส่วนไม่ได้ขึ้นตาม Gold Spot) 

ส่วนแนวโน้มการลงทุนและการออมในทองคำนั้น เมื่อราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น จำนวนเงินหน้าใหม่ ทั้งนักลงทุนหรือนักออมคงจะลดน้อยลง เพราะต้องใช้เงินเยอะขึ้นต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท ประกอบกับผู้บริโภคเดิมมีทองคำและขายทองออกไปแล้วในราคาถูก แต่ราคาทองแพงขึ้นแล้ว 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการทองคำจะลดลงทั่วโลก โดย 3-4ปีให้หลัง คำแนะนำในลักษณะ “ย่อซื้อทองคำ”ในราคาต่ำสุดที่สูงขึ้น ส่วนมากนักลงทุนระยะยาวและนักลงทุนทำกำไรระยะสั้นบางส่วน เพราะคิดว่าราคาทอง 40,000บาท(ต้นๆ) มีโอกาสอัพไซด์ แต่ถ้าเมื่อไรที่ราคาทองคำแท่งไทยเลยระดับสูงสุดใหม่ที่ 42,000 บาท แนวโน้มราคาทองคำน่าจะปรับขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจ

 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,030 วันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 2567