แหล่งข่าวจากแวดวงการเงินเปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันนี้(16 ต.ค. 2567) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที คาดว่าในเร็ว ๆ นี้ ธนาคารพาณิชย์จะทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากประมาณ 0.125% ตามต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง
ที่ผ่านมา กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 หรือเมื่อ 4 ปีครึ่งที่ผ่านมา เมื่อกนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงด้วย
อย่างไรก็ตามปกติเมื่อ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง ธนาคารพาณิชย์ ก็จะประเมินว่าถ้าลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทั้ง 2 ขาลง 0.25% แล้วจะทำให้เงินฝากลดลงเท่าไหร่ หากเงินฝากลดลง 1% แล้วสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 1.5% ธนาคารพาณิชย์ก็จะลดเท่ากันทั้ง 2 ขา แต่ถ้าเงินฝากไม่ลดลงธนาคารพาณิชย์ก็จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125% ขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวของดอกเบี้ยต่อเงินฝาก และความอ่อนไหวของดอกเบี้ยต่อเงินกู้ด้วย
"หากพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และภาระการกันสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นเชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์จะลดเงินฝากลง 0.125-0.25% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้จะลดลง 0.125%” แหล่งข่าว ระบุ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หอการค้าฯ เชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % เหลือ 2.25% ของกนง. เป็นตัวเลขที่เหมาะสม กับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้
ทั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งให้ค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไป มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยว สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และประชาชนต้องแบกรับ
นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศว่า นโยบายทางการเงิน และ นโยบายทางการคลังของประเทศไทย สอดคล้องไปในทางเดียวกัน