จากแนวคิดซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคาร นำมาสู่การเร่งออกมาตรการรับซื้อหนี้ประชาชนของกระทรวงการคลัง โดยจะซื้อหนี้เสียเฉพาะกลุ่มที่ต่ำกว่า 100,000 บาท
ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นหนี้เสียที่ค้างเกิน 1 ปี ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบุคคลหรือนำไปใช้อุปโภคบริโภคที่มีวงเงินไม่มาก มีคนที่เกี่ยวข้องประมาณ 3.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 65% ของคนที่เป็นหนี้เสีย มีมูลหนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของเอ็นพีแอล
จำนวนลูกหนี้เอ็นพีแอลในเครดิตบูโร
แหล่งข่าวจากบริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC)เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มการบริหารสินทรัพย์ปี 2568 ค่อนข้างอืดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ซึ่งมีหลายปัจจัย
แต่ปัจจัยหลักๆมาจากผลพวงจากรัฐบาลปัจจุบันแถลงนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้บางส่วนหยุดชำระค่างวด เพราะคาดหวังว่า จะเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือตามโครงการภาครัฐ ทำให้กระบวนการเรียกเก็บหนี้สะดุด
“พอมีข่าวว่า รัฐจะออกมาตรการ ทำให้ลูกหนี้ทั้งที่ผ่อนชำระอยู่แล้วและรายที่เรากำลังติดตาม ก็ยากขึ้นเพราะลูกหนี้เขารอดูว่า จะเข้าข่ายได้รับการพักหนี้ หรือลดหนี้ตามโครงการของรัฐ"
เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงของธุรกิจบริหารหนี้ยากขึ้น และแนวโน้มกลัวว่า หนี้จะขยายวงเพิ่มขึ้นหรือไม่ คือเราเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จึงได้ทำแผนเพิ่มปริมาณฟ้องคดีลูกหนี้เพิ่ม และคาดว่า ปีนี้จะดำเนินการฟ้องคดีเพิ่มอีก สมมติเคยฟ้องคดี 1,200คดี ก็จะเพิ่มเป็น 2,000คดี เพื่อรักษาสิทธิตามกระบวนการทางกฎหมาย
ด้านนายเมธ์ ปุ่มเป้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LDG และในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ต้นปีนี้ ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มนอนแบงก์เพิ่งเปิดประมูลขายหนี้เอ็นพีแอล 2-3 ราย
นายเมธ์ ปุ่มเป้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ส่วนตัวมีข้อสังเกตุว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้นำพอร์ตลูกหนี้ที่ค้างชำระ 5ปี 7ปีออกประมูล ส่วนกลุ่มนอนแบงก์ที่มีหนังสือเชิญให้เข้าร่วมประมูล จะจัดพอร์ตลูกหนี้ค่อนข้างเล็ก เช่น 50ล้านบาท
ส่วนของลีดเดอร์กรุ๊ปจะเข้าประมูลพอร์ตตั้งแต่ 100-1,000ล้านบาท แต่หากเป็นพอร์ตเล็กก็จะเข้าประมูลเฉพาะพันธมิตรรายเก่า โดยปีนี้ เน้นการบริหารจัดการหนี้ที่มีอยู่แล้ว เนื่องจาก 2ปีก่อน(ปี2565-2566) ทยอยซื้อเข้ามามาก ปัจจุบันพอร์ตรับซื้อหนี้เข้ามาบริหารมีประมาณ 2.2หมื่นล้านบาท ลูกค้าราว 3แสนราย มีพนักงานดูแล 120คน
ขณะที่พอร์ตที่รับจ้าง ตอนนี้ผู้ว่าจ้าง 40ราย ซึ่งสถาบันการเงินทะยอยเข้ามาต่อเนื่อง โดยใช้พนักงานดูแลมากถึง 800คน โดยรวมทั้ง 2พอร์ต มีรายได้เพิ่มต่อเนื่องและปีนี้เพิ่มเป้ารายได้พอร์ตรับซื้อหนี้มาบริหารเติบโต 25%จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 15ล้านบาท ส่วนพอร์ตรับจ้างบริหารมีรายได้ 45ล้านบาท คาดว่า ปีนี้จะเติบโตเพิ่ม 3%
“พอร์ตลูกค้าทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ทั้งรถยนต์ เงินกู้/บัตรเครดิตคาดว่า ปีนี้จะซื้อหนี้เพียง 100ล้านบาท ส่วนผลเรียกเก็บหนี้เดือนแรกดีขึ้นมากกว่าปีก่อนและดีขึ้นจากเป้าที่ตั้งไว้ เชื่อว่า มาจากบริษัทมีการบริหารจัดการภายใน ภายใต้โครงการ LDG NEXT คือ เอาใจใส่และทำงานควบคู่กับพันธมิตรหรือผู้ว่าจ้าง ดูแลพนักงาน 970คน และดูแลภาพลักษณ์องค์กร”
นายเมธ์กล่าวถึงความเสี่ยงในธุรกิจบริหารหนี้ว่า ยอมรับว่า ครึ่งแรกของปีนี้มีความกังวลต่อนโยบายภาครัฐที่จะออกมาตรการ เพราะ ลูกค้า แม้ไม่เข้าข่ายในโครงการ แต่พลอยไม่จ่ายหนี้ เพราะรอผลรัฐบาลว่า จะเป็นบวกกับเขาหรือเปล่า ซึ่งไตรมาสหลัง หากไม่มีเรื่องชะลอจ่ายหนี้บัตรหรือหนี้บ้าน เราน่าจะรันธุรกิจได้ปกติ ขณะเดียวกันยังมีความยากขึ้นในการติดต่อลูกหนี้จากกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลหรือพรบ.PDPA
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ CHAYO กล่าวว่า คาดว่า ทั้งปีนี้สถาบันการเงินจะเปิดประมูลหนี้ 6-8 หมื่นล้านบาท ต่ำจากปีที่แล้วที่มีกว่า 1แสนล้านบาท เพราะ 2เดือนครึ่งปีนี้มีเปิดประมูลแค่ 2หมื่นล้านบาท ซึ่งยังประกาศประมูลไม่กี่ที่ และบางแห่งประกาศออกมาแล้ว ก็ดึงหนี้กลับไป คาดว่า คงจะส่งออกมาประมูลกันใหม่ ส่วนหนึ่งคงจะเป็นผลจากมาตรการของรัฐที่จะออกมา
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม สัญญาณเรียกเก็บหนี้ปีนี้ ยากกว่าปีที่แล้ว เพราะลูกค้าจะอ้างประมาณว่า ธนาคาร/รัฐบาลจะออกมาช่วยจึงรอ และคาดว่าแบงก์เจ้าหนี้จะชะลอประมูลเอ็นพีแอล เนื่องจากมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายของรัฐ เพราะน่าจะมีคนเข้ามาไม่เกิน 3-4แสนราย หรืออาจจะไม่ถึงครึ่จากที่รัฐตั้งเป้า 2ล้านคน ทำให้ทางการจะออกมาตรการใหม่ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้
“มาตรการใหม่ รัฐโฟกัสหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน มูลหนี้ต่ำกว่า 1แสนบาท น่าจะใช้เงินไม่ถึง 2หมื่นล้านบาท ซึ่งกระบวนการซื้อหนี้จะมี AMC บริหาร ทั้งติดตามเรียกเก็บหนี้/เงื่อนไขให้ส่วนลด ซึ่งถ้ารัฐซื้อหนี้ออกมาแล้วให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ถายในเวลา ก็ทำให้เครดิตลูกหนี้ดีขึ้น”
กรมบังคับคดีรายงานว่า ในปีงบประมาณ 2568 มีสำนวนคดีค้างจากปีงบประมาณปี2567 ทุนทรัพย์ 8.72 ล้านล้านบาท 690,584 เรื่อง โดยคำนวนจากสำนวนคดีเกิดใหม่ ณ สิ้นเดือนก.ย.2567 จำนวน 491,732 เรื่อง ทุนทรัพย์ 781,890.93 ล้านบาท
มีสำนวณคดีค้างจาก ณ สิ้นเดือนต.ค.2566 จำนวน 620,320 เรื่อง ทุนทรัพย์ 8,770,468.98 ล้านบาท รวม 1,112,052 เรื่อง ทุนทรัพย์ 9,498,417.33 ล้านบาท ซึ่งกรมบังคับคดีสามารถดำเนินการสำเร็จ 421,468 เรื่อง ทุนทรัพย์ 781,890.93 ล้านบาท
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2568