กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) แจ้งชะลอจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับเงินที่บริษัทประกันภัยสมาชิกนำส่งเงินเข้ากองทุนปีละ 2 ครั้ง
ทั้งนี้กปว.อยู่ระหว่างชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ 7 บริษัทรวม 58,838.89 ล้านบาท อนุมัติจ่ายแล้ว 8,638.89 ล้านบาทยังเหลืออีก 50,200 ล้านบาท จำนวนเจ้าหนี้ 5.83 แสนราย
นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งในปี 2566 กปว.มีเงินกองทุนเหลือ 5-6 พันล้านบาท และได้จ่ายเงินให้บรรดาเจ้าหนี้แล้วประมาณ 7,000 ราย มูลหนี้ทะยอยจ่ายแต่ละเดือน 300-400 ล้านบาท รวมวงเงินกว่า 5 พันล้านบาท
ในระหว่างนั้นได้ดำเนินการ 3 แนวทาง เพื่อหาแหล่งเงินเข้ามาให้เพียงพอต่อการจ่ายเงินกับเจ้าหนี้ แนวทางแรกได้เสนอขอปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนจากเดิม 0.25% เป็น 0.50% ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ ซึ่งเป็นอัตราเงินนำส่งสูงสุดตามกฎหมายกำหนด พร้อมทั้งเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มวงเงินนำส่งดังกล่าว
แนวทางที่2 เสนอต่อสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อขอวงเงินกู้ 3,000 ล้านบาท เพราะมองเห็นว่า ปี2567 จะไม่มีเงินจ่ายให้กับเจ้าหนี้ เพราะประเมินจากอัตรานำส่ง 0.50% ประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทแล้วไม่น่าจะเพียงพอ และ 3.ทำหนังสือเพื่อเสนอของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อดำเนินการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามมาตรา 80 (11) ซึ่งทั้ง 3 แนวทางยังเร่งประสานงานกันอยู่
กระทั่งเดือนมกราคมปี 2567 บริษัทสมาชิกได้นำส่งเงิน 6 เดือนหลังเข้ามาประมาณ 600 ล้านบาท (เป็นเงินนำส่งอัตรา 0.25% 3เดือนและอัตรา 0.50% อีก 3 เดือน) และจะมีเงินนำส่งเข้ามา 6 เดือนแรกของปีนี้ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเดิมทีกปว.เคยจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ 7,000 รายวงเงิน 400 ล้านบาท
"หากจะลดวงเงินเฉลี่ยจ่ายเจ้าหนี้เหลือ 1,000 ราย วงเงิน 100 ล้านบาทนั้นประชาชนคงไม่ยอมแน่ จึงได้อนุมัติจ่ายเงินกับเจ้าหนี้เหมือนกับปี 2566 คือ เดือนละ 300 ล้านบาทและเงินก็หมดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากการเตรียมตัวหาเงินมาสมทบเพิ่ม แค่ปีกว่าไม่มีเงินใหม่เข้ามาเลย"นายชนะพลกล่าว
ในระหว่างที่รอเงินนำส่งที่จะเข้ามาอีกรอบในเดือนกรกฎาคม ทางกองทุนฯยังคงเร่งตรวจสอบความถูกต้องและรับรองหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่ยื่นคำทวงหนี้เข้ามาทุกราย แต่การอนุมัติจ่าย จะต้องรอเงินเข้ามาก่อน จากนั้นจึงจะขออนุมัติจ่ายในเดือนสิงหาคม ส่วนตัวเข้าใจว่า เงินนำส่งจะเข้ามาไม่เกิน 700 ล้านบาทหรือประมาณ 600 กว่าล้านบาท
ดังนั้น กปว.จะดูว่า บรรดาเจ้าหนี้ที่รับรองไว้ 6 เดือนนั้น จะสามารถทำจ่ายในเดือนสิงหาคมได้เฉพาะเจ้าหนี้ที่เรารับรองไว้ 2 เดือนคือ เดือนมีนาคมและเดือนเมษายนเท่านั้น โดยที่เวลานี้ กองทุนฯเร่งตรวจสอบและรับรองประมาณ 7,000 รายต่อเดือนประมาณเดือนละ 300 ล้านบาท
“จริงๆหลังจากนี้จะต้องใช้เงินเดือนละ 1,800 ล้านบาท แต่เงินนำส่งที่จะเข้ามาเดือน 600 ล้านบาท ซึ่งผมได้เขียนแจ้งในประกาศไปว่าจะจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ได้เท่ากับเงินนำส่งที่เข้ามา ดังนั้น เงินทำจ่ายจะไปตัดยอดเฉพาะเดือนมีนาคมกับเดือนเมษายน แต่ก็ยังคงมียอดค้างจ่ายอีก โดยกองทุนฯ จะต้องรอเงินนำส่งอีกรอบในเดือนมกราคมปี 2568”
ดังนั้นหนี้สะสมอีกกว่า 50,200 ล้านบาทและเจ้าหนี้อีกเกือบ 6 แสนรายจะทำอย่างไร เพราะไม่มีกระบวนการเติมเงินเข้ามาเลย ส่วนตัวยังมีความเป็นห่วง สำหรับการจัดหาแหล่งเงินมาคืนคืนแก่บรรดาเจ้าหนี้อีกกว่า 50,200 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวม บมจ.สินมั่นคง ซึ่งมีเจ้าหนี้กว่า 5 แสนรายวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท” นายชนะพล กล่าว
นอกจากยังมีประเด็นที่กปว.อนุมัติการจ่ายเงินคืนให้กับเจ้าหนี้มาถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่ยังมีผู้ไม่มารับเงินอีกประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัยได้กันเงินค้างท่อไว้ให้แล้ว โดยกปว.กำหนดจะประกาศรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจ่ายเงินกับเจ้าหนี้ในวันที่ 29 มีนาคม 2567
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,979 วันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน พ.ศ. 2567