วอนรัฐหาทางออก กปว.เงินหมดกระทบผู้ซื้อประกันรายใหม่

10 พ.ค. 2567 | 07:08 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2567 | 07:08 น.

นักคณิตศาสตร์เตือน ประกันภัยระวังความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ นวัตกรรมใหม่ ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสม อย่าประกันเกินจำเป็น รับกปว.เงินหมดกระทบผู้ซื้อประกันใหม่ เหตุไม่มีเงินคุ้มครอง วอนรัฐเร่งหาทางออก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทประกันภัยมีขาดสภาพคล่องและไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัย 4 แห่งต้องปิดกิจการลง ส่งผลให้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ต้องชำระหนี้แทนกว่า 6 หมื่นล้านบาทมีจำนวนเจ้าหนี้มากกว่า6 แสนราย  ล่าสุดมีคำทวงหนี้ที่ยังไม่พิจารณา 50,200 ล้านบาท จากคำขอ 583,329 เรื่อง จนต้องเปลี่ยนรอบการอนุมัติจ่ายเงินให้สัมพันธ์กับรายได้และรอบการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยของบริษัทประกันภัย

นายนิติพงษ์ ปรัชญานิมิต นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วิกฤตโควิดเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่เป็นสัญญาณให้ทุกคนได้ตื่นรู้จากบทเรียน ทั้งแบบประกัน การอนุมัติผลิตภัณฑ์หรือความจำเป็นของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งหากไม่นับแบบประกัน “เจอ จ่าย จบ” แบบค่ารักษาพยาบาลทั่วไปที่คุ้มครองโควิดมีอยู่ค่อนข้างสูงสามารถบริหารจัดการได้

นายนิติพงษ์ ปรัชญานิมิต นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย

“ทุกคนได้รับบทเรียน ทั้งเจ็บตัวมากและเจ็บตัวน้อย ส่วนตัวเชื่อว่า ทุกคนต้องปรับตัวในเรื่องการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อนอย่างรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แรกๆทุกคนกำหนดค่าเบี้ยประกันค่อนข้างราคาถูก แต่ระยะหลังเริ่มมีความกังวลกับความเสี่ยงใหม่ ที่มาจากรถเฉี่ยวชนทำให้แบตเตอรี่ไฟฟ้าพัง” นายนิติพงษ์กล่าว

ดังนั้น ความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่หรือนวัติกรรมใหม่เป็นสิ่งที่นักคณิตศาสตร์ต้องช่วยบริษัท ไม่ว่าบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะปรับกฎระเบียบ การออกผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการให้เข้มแข็ง เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารความเสี่ยง สำหรับอนาคตให้ดีขึ้น 

การชำระหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัย(กปว.)

ส่วนการชะลอจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัยมองว่า เป็นที่สนใจในสังคมแน่นอน ด้วยมูลหนี้และผลกระทบค่อนข้างมาก เข้าใจว่า ค่าใช้จ่ายตามสัญญาประกันของเดิมประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องใช้เวลามาก ซึ่งส่วนตัวมองว่า จะกระทบกับผู้ซื้อประกันรายใหม่ทุกราย ไม่ว่าประกันรถหรือประกันบ้าน เพราะจะไม่มีเงินกองทุนที่จะมาคุ้มครอง หากไม่เคลียร์หนี้เก่าเสร็จสิ้น

“จุดนี้เป็นความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง หากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ตอนนี้ทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นประกันวินาศภัยหรือประกันชีวิตก็ลำบากแล้ว เพราะต้องจ่ายเงินนำส่งเข้ากองทุนมากกว่าเดิมเท่าตัวแล้ว ซึ่งแนวทางที่เป็นไปได้คงต้องพึ่งรัฐบาลเป็นหลัก เพราะหนี้เยอะเกินกว่าที่กองทุนจะรับไหว เช่น รัฐบาลหาเงินกู้ และในอนาคตจะต้องทบทวนกฎเกณฑ์หรือไม่”นายนิติพงษ์ กล่าว

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนสโซลูชั่น อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปรากฎการณ์ชะลอจ่ายคืนเงินเจ้าหนี้ประกันของ กปว.นั้น ย่อมมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมประกัน ทำให้คนจะซื้อประกันใหม่กังวลว่า บริษัทประกันที่จะซื้อนั้นจะสามารถบริหารกิจการได้ปลอดภัยหรือดำเนินธุรกิจได้นานแค่ไหน

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนสโซลูชั่น

“ส่วนตัวมอง บริษัทต่างชาติจะได้เปรียบกว่า เพราะมีความเชื่อมั่น ประกอบกับมีสำนักงานใหญ่อยู่ในไทย มีกระบวนการออกแบบเป็นหลักสากล รวมถึงบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เพราะเมื่อก่อนลูกค้ามองราคาหรือค่าเบี้ยถูกเป็นหลัก แต่แนวโน้มคนจะดูความมั่นคง ความน่าเชื่อมั่นของบริษัทก่อนซื้อประกัน”

โดยเฉพาะความปลอดภัยทั้งผู้ให้บริการประกันวินาศภัยและประกันชีวิตที่ต้องพิจารณาคือ ความสามารถในการชำระหนี้ได้ของบริษัทประกัน (CAR ratio) แบบประกันที่จะขายออกและความเพียงพอของเงินกองทุนที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ซึ่งประตูทั้ง 3ชั้นจะเป็นกันชนให้ผู้ซื้อประกันอุ่นใจในระดับหนึ่ง แต่ข้อสังเกตุ CAR ratio ของบริษัทประกันวินาศภัยมีค่าสูงมากถึง 500% แต่สามารถลดฮวบลงในช่วงโควิด ดังนั้น ถ้าเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ เหมือนสึนามิหรือโควิด-19 CAR ratio จะกันไม่อยู่

“CAR ratio เหมือนจะบอกว่า ปัจจุบันมีความสามารถในการชำระหนี้ได้เท่าไร แต่ในมุมของแบบประกันที่ไม่จำกัดเคลม ไม่ว่า CAR ratio มีเท่าไรก็ลดลงอยู่ดี อย่างโควิดในญี่ปุ่น เท่าที่ทราบคุ้มครอง 3 เดือน แต่เมืองไทยคุ้มครองยาว 12 เดือน แถมยังมีประกันมากเกินความจำเป็น (Over Insure) บางแห่ง รับเบี้ยมาทุก 100 บาท ต้องจ่ายเคลมโควิดถึง 4,000 บาท”

อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตโควิด ความตระหนักถึงโรคร้ายแรงหรือสุขภาพมีมากขึ้น ทำให้ช่วงนี้ฝั่งสะสมทรัพย์กลับมาได้รับความนิยมขึ้น หลังจากคนไม่มั่นใจในหุ้นกู้หรือกองทรัสต์ ทำให้ค่าเบี้ยประกันสะสมทรัพย์จะแพงขึ้น หากย้อนไป 5 ปีก่อน ผลตอบแทนเฉลี่ยเกิน 4% ต่อปีหรือการซื้อประกันสะสมทรัพย์เมื่อ 20 ปีก่อนการันตีดอกเบี้ยในอัตรา 5.5% ต่อปี

นอกจากนี้ อัตราเคลมของประกันรถยนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่บริษัทมีการแข่งขันกันด้านข้อมูลในการรองรับตลาดเฉพาะ เช่น กลุ่มรถป้ายแดงมีโอกาสทำกำไร ซึ่งตรงข้ามกัน ถ้ารับประกันภัยรถแท็กซี่ที่มีการแข่งขันตัดราคากันมากอาจจะขายแล้วไม่มีกำไรหรือกำไรน้อยหรือไม่มี) และความเสี่ยงใหม่ๆ ที่จะเข้ามา

มองไปข้างหน้าผลพวงที่จะกระทบภาคอุตสาหกรรมประกัน เมื่อธุรกิจประกันต้องจ่ายเบี้ยสมทบมากขึ้น ท้ายที่สุดบริษัทจำเป็นต้องมาเก็บจากผู้บริโภคทำให้ค่าเบี้ยภาพรวมมีแนวโน้มจะสูงขึ้น แต่เชื่อว่า ยังเห็นการตัดราคาแข่งขันในธุรกิจประกันวินาศภัย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,988 วันที่ 2 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567