เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยง ต่างชาติชี้ ไทย‘Safe Zone’

24 พ.ย. 2565 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 08:50 น.

“สภาพัฒน์” ลั่นเศรษฐกิจโลกเผชิญเสี่ยง ชี้โอกาสนักลงทุนต่างชาติเลือกไทยเป็น Safe Zone หวังท่องเที่ยว-ลงทุนเอกชน-EEC หนุนจีดีพี ปี 66 เติบโต 3.5% ด้านกูรูแนะจัดพอร์ตลงทุน 2023 “ตราสารหนี้-หุ้นกู้” สดใส

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย2023” ในงานสัมมนา “Wealth Forum ลงทุนอย่างไรให้รวย #ปี3” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และเนชั่น ประเมินว่าปี 2565 จีดีพีไทยจะขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งได้แรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยว 10.2 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยว 5.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ปีหน้าคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 22 ล้านคน ทำรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท และจีดีพีปีหน้าค่ากลาง 3.5% กรอบการเติบโต 3-4%

 

ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนจีดีพีในปี 2566 มาจากภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน ดังนั้นในปี หน้าถ้าเร่งการลงทุนเอกชนได้ต่อเนื่องเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ ซึ่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมองหาการลงทุนในประเทศที่เป็นกลางเช่น ไทย รวมถึงกำลังซื้อภายในประเทศไทยจะช่วยพยุงเศรษฐกิจบวกกับความเชื่อมั่นที่ปรับเพิ่มสวนทาง การว่างงานที่ลดลงขณะที่ภาคเกษตรน่าจะขยายตัวได้ดี

 

“ความเสี่ยงหลักในปีหน้ามาจากสัญญาณเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลต่อความตึงตัวในตลาดการเงินโลก โดยเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักไตรมาส 3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มเผชิญแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาก๊าซธรรมชาติ และความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนาขยายตัวเร่งขึ้นตามการส่งออกและฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ดนุชา พิชยนันท์            

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจจีนอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดไว้ ทั้งจากการกลับมาระบาดของโควิดภายในประเทศ และปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2565 ขยายตัว 2.6% และปีหน้า 2% ซึ่งชะลอลงจาก 3.1% และ4% ในปี 2565 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ

 

ดังนั้นทั้งธุรกิจและการลงทุนต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน ที่มาจากความผันผวนตลาดโลก ขณะเดียวกันความเสี่ยงภายในประเทศไทยเรื่องหนี้ครัวเรือนนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่องและให้ความรู้ทั้งความจำเป็นก่อนหน้าหรือการมีหนี้ที่ต้องชำระซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ ข้อดีทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ทรงตัวในระดับเดิม แต่ความเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าระวังคือ การระบาดของโควิด-19

           

“เศรษฐกิจไทยยังรักษาแรงส่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และช่วงนี้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนต่างประเทศมองหา Safe Zone ในการตั้งฐานการผลิต การอำนวยความสะดวกเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา ซึ่งระยะต่อไปบีโอไอจะมีทีมเข้าไปคุยกับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนต่างประเทศรายสำคัญๆโดยตั้งแต่ปีหน้าไทยจะเร่งปรับโครงสร้างให้ความยืดหยุ่น และกระจายการลงทุน กระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน EEC”

ศรชัย สุเนต์ตา            

ด้านนายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวบรรยายในงานสัมมนา หัวข้อ “จัดพอร์ตลงทุน ทำกำไร 2023” ระบุว่า ปัจจัยที่จะส่งผลต่อนักลงทุนในปีหน้า คือ 1.เงินเฟ้อที่ยังสูงต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยเฟดยังมีโอกาสปรับขึ้นถึงไตรมาส1/66 ก่อนจะชะลอลง โดยคาด ธ.ค.ปีนี้ เฟดจะปรับขึ้นอีก 0.50.-0.75% 2.ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ความตึงเครียดระหว่างประเทศ และ 3.การหดตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลจากการใช้ยาแรงเศรษฐกิจ

           

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนปี 2566 ถ้าจะทำกำไร ต้องเป็นพอร์ตที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ และขณะนี้ดอกเบี้ยขึ้นมาแล้ว 70-80% นั่นหมายความว่าถ้านักลงทุนเริ่มสะสมตราสารหนี้ จะได้ต้นทุนที่ไม่แพง ขณะที่ผลตอบแทนค่อนข้างสูง และหากเศรษฐกิจถดถอย ดอกเบี้ยทั่วโลกอาจเริ่มหยุดขึ้น หรือมีโอกาสที่ปรับลงได้ จะทำให้ “แคปปิตอล เกน” ที่เกิดจากตราสารหนี้จะมากขึ้น

 

กลยุทธ์การลงทุนปีหน้า ที่อยากเน้นแนะให้เริ่มสะสมตราสารหนี้ อันดับความน่าเชื่อที่ดี ระยะยาว 7-10 ปี จากเดิมที่เน้น 3-5 ปี และการลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์ที่สามารถ Limit Downside Risk และสร้างกระแสเงินทุน เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยง “หุ้น” ขณะนี้ถือว่าปรับลงมาถูกมาก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลงมาถึง 40-60% หลายตัวมีอนาคตดี ดังนั้นการจัดพอร์ตปี 66 จากบาลานซ์ฟันด์เดิมทีเราเคยแนะนำ 50: 50 เป็นตราสารหนี้ ปีหน้าแนะปรับพอร์ตเป็นตราสารหนี้ : สินทรัพย์เสี่ยงสัดส่วน 60 :40

           

ด้านนายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS กล่าวว่า มองว่า 6 เดือนข้างหน้ายังเป็นช่วงเวลาที่ดีของการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ เหตุผลคือ 1.ดอกเบี้ยสู่จุดพีคแล้ว 2.เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มชะลอส่งผลให้ภาวะการเงินเอื้อกลับมา 3. ผลจากการที่ไทยเปิดประเทศช้า สวนทางประเทศอื่นที่เปิดไปก่อนหน้า การเปิดประเทศ และการท่องเที่ยวจะปัจจัยหนุุนเศรษฐกิจไทยใน 6 เดือนข้างหน้า

สรพล วีระเมธีกุล

นอกจากนี้ภาวะการลงทุน SET Index เมื่อเทียบกับดอกเบี้ย คาดเฟดจะขึ้นสูงสุดแตะ 5.00 -5.25% ในเดือนมี.ค.66 แต่ไทยกับจีน ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ธปท.คาดเงินเฟ้อไทยจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 2/66 ขณะที่ไทยมีสัดส่วนหุ้นกับจีนโดยตรง จะช่วยเอื้อให้ทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ (EM) มองตลาดหุ้นไทยกับจีน เป็น 2 ตลาดที่ยัง outperform

           

ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมดาวเด่นในตลาดหุ้นปีหน้า บล.กสิกรไทยมีมุมมองเชิงบวกต่อ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจเสริมสวยความงาม 2. ธุรกิจอาหารสัตว์ 3. ธุรกิจเทคคอนเซาท์ และ 4 .ธุรกิจโรงไฟฟ้า ข้อกังวลประเด็นเรื่อง“บาทอ่อน” หรือเรื่องแรงกดดัน “บอนด์ยีลด์” ฯลฯ ก็ดี ที่ส่งผลกระทบในปีนี้จะเริ่มคลายในปีหน้า

 

“ดัชนีหุ้นไทย SET 6 เดือนข้างหน้ามีโอกาสไซด์เวย์บวกลบ บริเวณ1740 จุด โดยคาดจะเห็นก่อนในช่วงเดือนมี.ค.66 ถทยอยขายทำกำไร เพราะไม่คิดว่าดัชนี SET จะไปไกลกว่านั้น หลังจากนั้นแนะกลับมาทะยอยสะสม “ทองคำ” และแนสแด็ก (NASDAQ )”

           

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพใหญ่เศรษฐกิจปี 2566 มองว่าจะเกิด resession เศรษฐกิจสหรัฐคาดว่าจะติดลบ 0.5% ยุโรปน่าจะติดลบ 1% ดังนั้นการลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จึงมีโอกาสที่ระดับสินค้าหรือเงินเฟ้อจะปรับลง นโยบายการเงินที่จะรับมือกับเงินเฟ้อเปลี่ยนเป็นผ่อนคลายขึ้น จึงเป็นโอกาสตรงนี้

จิติพล พฤกษาเมธานันท์            

ส่วนในฝั่งเอเชียประเทศที่ต้องจับตาคือ “จีน และญี่ปุ่น” มองว่าการที่จีนจะเปิดเมืองหลังจากล็อกดาวน์โควิด ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเปิดเมืองของจีนจะตามมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการปรับขึ้นในช่วงที่ภาคอสังหาก็มีปัญหา ขณะที่ญี่ปุ่น จุดสำคัญคือการเปลี่ยนนโยบายการเงิน จากการเปลี่ยน “ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น”  จึงอาจเห็นนโยบายการกระตุ้นตลาดเงิน-ตลาดทุนเกิดขึ้น

 

“ปีหน้ามีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอย แต่เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน จึงต้องปรับพอร์ตให้ดี ซื้อทรัพย์สินที่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้จากการรีบาวด์ของเศรษฐกิจรอบนี้”

 

ขณะที่นายประมุข มาลาสิทธิ์ HEAD of CIO Office ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาพการลงทุนในปีหน้า มองว่าเป็นปีทองของ “หุ้นกู้” แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอ แต่ไม่ได้วิกฤตและเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ดอกเบี้ยมีโอกาสสูง แต่ช่วงสิ้นปีคาดจะปรับตัวลดลง และ ณ ปัจจุบันกองทุนตราสารหนี้โลก ให้อัตราผลตอบแทนส่วนใหญ่ อยู่เกิน 10%

ประมุข มาลาสิทธิ์

“ถ้าเป็นกองทุนตราสารหนี้ แนะนำให้ลงทุนได้แล้ว ส่วนสินทรัพย์เสี่ยง “หุ้น” ให้ทยอยสะสม โดยผลตอบแทนที่คาดหวังหากลงทุนตราสารหนี้เลย ผลตอบแทนจาก ดอกเบี้ย Yield Maturity ส่วนใหญ่อยู่ที่ 10% หักปิดความเสี่ยงและค่าเงินแล้ว ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 5-6% และถ้าปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอลง เฟดเริ่มคัทดอกเบี้ย สเปรดปรับลดลง จะส่งผลดีต่อกองทุนตราสารหนี้โลก

 

ปีหน้า หุ้นเอเชียน่าสนใจ ส่วนหุ้นในตลาดพัฒนาทั้งในสหรัฐ หรือยุโรป โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ คาดยังปรับลงต่อจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นค่อนข้างแรง จุดต่ำสุดของดัชนี S&P500 คาดจะสามารถปรับไปที่ระดับ 3,600 จุด ซึ่งนักลงทุนสามารถทยอยสะสมได้”