ไทยเบฟ ถอด OISHI จากตลาดหุ้น ทำเทนเดอร์ราคาหุ้นละ 59 บาท

11 มี.ค. 2566 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2566 | 08:50 น.

โออิชิ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุ ไทยเบฟ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เตรียมถอนหลักทรัพย์ OISHI ออกจากตลาดหุ้น ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญ 76,279,602 หุ้น ในราคาหุ้นละ 59 บาท

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI แจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทรับทราบข้อเสนอของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เรื่องแจ้งความประสงค์ทำ Tender Offer หรือคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท และให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับ ไทยเบฟ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทบริษัท โออิชิ กรุ๊ป โดย ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2555 ไทยเบฟถือหุ้นในบริษัท จำนวนทั้งสิ้น 298,720,398 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 79.66% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท 

โดยไทยเบฟ มีความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่เหลือทั้งหมดจำนวน 76,279,602 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.34% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท เพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาเสนอซื้อหุ้นที่ราคา 59.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาสูงสุดที่คำนวณได้

เปิดเหตุผลไทยเบฟ ถอด OISHI จากตลาดหุ้น

ไทยเบฟ แจ้งว่าเหตุผลและที่มาของการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ไทยเบฟเล็งเห็นว่าปัจจุบันปริมาณการซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีไม่มากนัก ไทยเบฟ จึงเห็นว่าการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทสามารถขายหุ้นของบริษัทได้

กลุ่มไทยเบฟ อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างการดำเนินงานและการประกอบธุรกิจของกลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ภายในกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยจะดำเนินการจัดกลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

รวมถึง การปรับโครงสร้างของกิจการในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งอาจดำเนินการในลักษณะของการซื้อ จำหน่าย หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่าง ๆ การควบรวมกิจการ การโอนสิทธิตามสัญญาทางการเงิน การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางในการ ดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงาน การโอนย้ายพนักงาน การกู้ยืมให้กู้ยืมเงิน และการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ 

เพิ่มความคล่องตัวการบริหารจัดการ

สำหรับการปรับโครงสร้างนี้อาจมีการทำรายการหรือธุรกรรมระหว่างบริษัทกับไทยเบฟ หรือบริษัทในกลุ่มไทยเบฟได้ โดย ไทยเบฟ จะพิจารณาดำเนินการตามแผนการดังกล่าวตามความเหมาะสมในอนาคต เนื่องจากแผนการดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน จึงอาจมีการเพิ่มเติม หรือ เปลี่ยนแปลงได้

ดังนั้น การเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน จะทำให้สามารถเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการกิจการและแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากบริษัทจะไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกต่อไป และการดำเนินการดังกล่าวจะยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียนด้วย

ทั้งนี้ภายหลังการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ บริษัทจะยังมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายและ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการดำเนินการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป