แรงหนุนจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์) สหรัฐปรับลดลง ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแรง โดยราคาทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมอยู่ที่ระดับ 1,877.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์จากเดิมอยู่ที่ 1,867.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศจะไม่สอดคล้องกับราคา Gold Spot มากนัก เพราะต้องขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมา หลังเงินบาทอ่อนค่าหลุด 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศทรงตัวในระดับสูงและมีโอกาสเคลื่อนไหวในแดนบวกต่อไปตามทิศทางค่าเงินบาท
ขณะที่บอนด์ยีลด์ อายุ 10 ปีและสกุลเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ส่งผลให้สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธันวาคมยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,888 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาทองคำปีนี้ ค่อนข้างจะปรับตัวสูงขึ้น(Side way up) โดยราคาทองคำแท่งในประเทศขยับเป็น 33,050 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งเป็นระดับราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ จากระดับราคาประมาณ 29,000 บาทต่อบาททองคำในปี2565 ซึ่งคนที่มีทองคำแท่งในครอบครองน่าจะมีกำไร
อย่างไรก็ตาม สภาพการค้าทองคำไทยปีนี้ แนวโน้มน่าจะซบเซาตลอดทั้งปี ทั้งจากความต้องการซื้อและขายหดตัวอย่างรุนแรงทั้งคู่ สาเหตุอาจจะมาจากราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น สภาวะเศรษฐกิจโลกที่กดดันเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อยู่ในระดับสูง กดดันต่ออัตราดอกเบี้ยของไทยและราคาทองคำแท่งในประเทศด้วย
ในแง่การลงทุนในทองคำนั้น จะเห็นว่า การเคลื่อนไหวราคาทองคำช่วง 13 ปีที่ผ่านมา(ตั้งแต่ปี 2553-2566) ราคา Gold Spot ต่ำสุดที่ประมาณ 1,410 ดอลลาร์ต่อออนซ์จนถึงปี 2566 ขยับมาอยู่ที่ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ปี 2565 ราคาสูงสุดอยู่ที่ 2,056 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สะท้อนผลตอบแทนที่เอาชนะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ยกเว้นปีนี้ที่ดอกเบี้ยสหรัฐขยับขึ้น เห็นได้จากผลกำไรจากการลงทุนในทองคำอยู่ที่ประมาณ 600 ดอลลาร์สหรัฐหรือเพิ่มขึ้นราว 43% เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.3%
ส่วนราคาทองคำแท่งเมื่อปี 2553 อยู่ที่ 20,150 บาทต่อบาททองคำ โดยปีนี้ราคาขยับสูงสุดที่ 33,050 บาท( ณ 20ก.ย.) จะเห็นได้ว่า การลงทุนในทองคำแท่งช่วง 13ปี มีผลตอบแทนอยู่ที่ 12,900 บาทเฉลี่ย 1,000 บาทต่อปี คือ ทำกำไร 5%ต่อปี
“ช่วง 13ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อย่างไทยเองดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ขณะผลกำไรจากทองคำ 5%ต่อปี ซึ่งการลงทุนทองคำแท่ง เอาชนะดอกเบี้ยเงินฝากบ้านเราได้ สอดคล้องกับทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ และผลการถือทองคำแท่งสามารถเอาชนะดอกเบี้ยด้วย ส่วนทองคำรูปพรรณอาจจะหักค่ากำเหน็จ ผลกำไรลดลงเล็กน้อย แต่การถือทองคำรูปพรรณนั้น กรณีเหตุการณ์เศรษฐกิจน่ากังวลทองคำก็จะเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง”ดร.พิบูลย์ฤทธิ์กล่าว
ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำกล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนทองคำมีข้อดีคือ โอกาสติดดอยใช้เวลาไม่นาน คือ การเฝ้ารอการลงมารับของราคาทองคำนั้นไม่นานนัก อย่างดอยที่แล้ว 32,400 บาทใช้เวลาเพียง 1ปี ซึ่งปีที่แล้วช่วงเกิดเหตุการณ์ในรัสเซียและปีนี้ปรับราคาขึ้นไปและทำกำไรด้วย โดยสถิติที่ผ่านมา ราคาทองคำแท่งไทยขึ้นมาตลอด ในแง่การลงทุนนั้น จึงมักจะมีทองคำถือครองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ในพอร์ตประมาณ 10% จากอดีตอยู่ที่ 3%เพื่อป้องกันความเสี่ยง
สิ่งที่น่าสนใจปีนี้คือ การค้าทองคำของเมืองไทยได้รับความสนใจจากตลาดโลก โดยทาง World Gold Council ได้เข้ามาร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT และสมาคมผู้ค้าทองคำ จัดงานประชุม THAILAND GOLD FORUM ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สะท้อนให้เห็นว่า สภาทองคำโลกเห็นสภาวะการค้าทองคำในเมืองไทยน่าสนใจในระดับโลก
ต่อประเด็น การนำเข้าทองคำของไทยส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของทิศทางเงินบาทให้อ่อนค่านั้น ดร.พิบูลย์ฤทธิ์กล่าวว่า จริงๆการนำเข้าและส่งออกทองคำของไทยจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น ดังนั้นกรณีที่เงินบาทมีความผันผวนอ่อนค่าลง อาจจะไม่ใช่ผลที่เกิดจากการนำเข้าทองคำซะทีเดียว โดยปีนี้ยอมรับว่า ปัจจัยภายนอกมีผลกระทบต่อความผันผวนของเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่การนำเข้าทองคำมีผลต่อเงินบาทน้อยมาก
สำหรับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า ปริมาณนำเข้าทองคำของไทยอยู่ที่ 85 ตันและส่งออก 58 ตันเท่านั้น ส่วนตัวเลขทั้งปีจะต้องรออีก 4 เดือน แต่เบื้องต้นพบว่า ปริมาณการนำเข้าและส่งออกลดลงกว่า 50%จากปีก่อน ซึ่งเมืองไทยมีการนำเข้าทองคำ 201ตัน และส่งออก 123 ตัน
“ช่วงนี้ ราคาทองคำผันผวนค่อนข้างสูงต้องจับตานโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งตลาดคาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอยู่ระดับ 5.5- 5.75% ซึ่งจะผลักดันสกุลเงินดอลลาร์มีโอกาสจะแข็งค่าและกดดันเงินบาท โดย 3 เดือนจากนี้ไปถึงครึ่งปีหน้า ต้องจับตาค่าเงินบาทและราคา Gold Spot จะฟื้นหรือไม่”ดร.พิบูลย์ฤทธิ์กล่าวทิ้งท้าย