ก.ล.ต.ชี้ STARK อาชญากรรมเศรษฐกิจ ศึกษาตั้งกองทุนเยียวยานักลงทุน

24 พ.ย. 2566 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2566 | 10:13 น.

ก.ล.ต.ชี้หุ้น STARK อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ศึกษาตั้งกองทุนเยียวยานักลงทุน ฝั่งอัยการสูงสุด ระบุสร้างความเสียหายกว่า 1.47 หมื่นล้านบาท ด้าน UTC แนะนักลงทุนรายย่อยดำเนินคดีแบบกลุ่ม

นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “หุ้น STARK อาชญากรรมที่ยังไม่ STOP” จัดโดย นักศึกษาวิชา น.723 อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา ว่า บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นั้น ได้มีการตกแต่งบัญชี ด้วยการสร้างรายได้

คือ การสร้างยอดขาย โดยที่ไม่มีผู้ซื้อ และมีลูกหนี้ โดยเวลาที่ลูกหนี้ต้องมาชำระหนี้ ก็ต้องสร้างรายการขึ้นมาอีก ฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏ พบว่า การจ่ายค่าสินค้าล่วงหน้า โดยที่การสั่งสินค้าไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ ผลจากการตรวจ พบว่า STARK มีเงินผ่านเข้าไปบริษัทย่อย และเอาเงินก้อนนั้นวนกลับมาให้ลูกหนี้ที่ค้างอยู่ โดยบริษัททีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ากรมสรรพากรอย่างปกติ จึงทำให้การจับสังเกตการณ์ดำเนินธุรกิจได้ช้า อย่างไรก็ดี มองว่า วิธีดำเนินการของ STARK ถือเป็น อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

“เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่พูดถึงใน STARK ก็มีความรู้ทางด้านธุรกิจ ทั้งผู้ทำบัญชี CFO ซึ่งมีวิชาชีพ โดยบริษัทมีการวางแผน มีเป้าหมายที่จะลวงคนอื่นให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการ มองว่า ก็เข้าข่ายอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยก.ล.ต.ได้มีการอายัดทรัพย์ ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาเรียบร้อย รวมทั้งได้มีการสั่งห้ามออกนอกประเทศตามกฎหมาย รวมทั้งได้มีการส่งเรื่องให้ DSI และได้มีการประสานไปทางปปง. ด้วย”

ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว ทำให้ขณะนี้มีแนวคิดที่จะทำการศึกษากองทุนเพื่อการเยียวยานักลงทุน เพราะหากมีการจัดตั้งทำมาได้จะเยียวยาผู้ลงทุนได้ อย่างไรก็ดี แนวทางป้องกันอาชญากรรมเศรษฐกิจ กรณี STARK เกิดขึ้น เป็นเพราะความโลภ ตลาดทุนเองก็พยายามที่จะสร้างความสมดุล ซึ่งในการสร้างความสมดุลนั้น ขณะนี้ ก.ล.ต.เข้าไปดูตั้งแต่ต้นทาง ด้วยองค์ประกอบบริษัท กรรมการ ทั้งกรรมการบริหาร กรรมการอิสระ

“เรามองว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้บริหารทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากกรรมการมีการทำงานอย่างสุจริต และมีการดูข้อเท็จจริงต่างๆ ก็จะมีส่วนช่วยได้ ส่วนผู้สอบบัญชีก็ควรสร้างความเชื่อมั่น และหากดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน และมีข้อสังเกตทำหน้าที่อย่างดี ก็จะทำให้อาชญากรรมทำได้ยาก ส่วนกลต ก็ศึกษาว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เจอเหตุการณ์ได้เร็ว เราก็จะต้องมีการดูแลระบบด้านใน ส่วนผู้ลงทุนมองว่าควรมีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการดูงบบริษัท เป็นต้น”

นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการดำเนินคดีชั้นสูง สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กรณี STARK  ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 1.47 หมื่นล้านบาท ซึ่งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาควรรับผิดเท่ากัน เนื่องจากมองว่า การกระทำผิดกฎหมายของ STARK เรื่องนี้ จากที่ติดตามข่าวสารนั้น มองว่ามีผิด ได้แก่

  • พ.ร.บ.หลักทรัพย์ 
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 
  • พ.ร.บ.เทคโนโลยีใหม่
  • พ.ร.บ.องค์กรข้ามชาติ
  • ส่วนพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินนั้น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการตรวจสอบ เพราะหลักฐานจะอยู่ในรายงานผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

รศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และการคลัง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การตกแต่งบัญชีของ STARK ไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษของโลก ซึ่งการตกแต่งกำไร เกิดขึ้นเป็นปกติสำหรับบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากส่วนใหญ่บริษัทจะเลือกใช้เกณฑ์คงค้าง โดยไม่ใช้เกณฑ์เงินสด อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าจะเลือกวิธีการใด ตามดุลพินิจ

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นช่อง หรือโอกาส ให้ผู้บริหารบางคนตกแต่งบัญชีเพื่อไม่ให้ราคาหุ้นตก ฉะนั้น เหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่หากนักบัญชีมีวิชาชีพ และมีจรรยาบรรณเรื่องราวเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดีด้านงานวิรัชกิจและนิตินวัตกรรม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยกฎหมายและสิทธิบัตร University Technology Center (UTC) กล่าวว่า แนวทางในการดำเนินคดีกรณีมีการลงทุน STARK นั้น กรณีนักลงทุนรายย่อยหากดำเนินคดีแบบกลุ่มจะมีความเหมาะสม และได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด

โดยศาลจะมีกระบวนการอนุญาตให้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม แต่สมาชิกจะต้องมีจำนวนมากพอ เพื่อให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโจทก์ต้องแสดงให้เห็นว่าสมาชิกของกลุ่มมีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น การร้องเรียนข้อเดียวกัน เป็นต้น โจทก์จะต้องมีความพร้อม และนำเสนอได้อย่างเป็นธรรม

“สถาบันการเงินขนาดใหญ่การฟ้องร้องเองจะมีความเหมาะสม เพราะมีความเสียหายหลักร้อยถึงพันล้านบาท ส่วนกรณีนักลงทุนรายย่อยถือเป็นเรื่องยาก โดยเครื่องมือการดำเนินคดีหลักทรัพย์แบบกลุ่มก็จะเป็นช่องทางที่มีความเหมาะสมกว่า”