"กิริฎา" มองวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสต่างชาติลงทุนไทย

27 มิ.ย. 2567 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 11:20 น.

"กิริฎา เภาพิจิตร" มองทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง นำพาความไม่แน่นอน ชี้ภายใต้วิกฤติยังมีโอกาส สงครามการค้ารุนแรง เป็นจังหวะดีไทยต้องรับตัก ทุนต่างชาติสนใจย้ายฐาน พร้อมมองประเทศไทยยังเซ็กซี่ นักลงทุนต้องมั่นใจลงทุนหน่อย

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนา Investment Forum 2024 เจาะขุมทรัพย์ลงทุนยุคโลกเดือด ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยไต่วิกฤติโลกเดือด” ที่จัดขึ้นโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า สำหรับผลการเลือกตั้งสหรัฐในช่วงปลายปี 2567 นี้ ต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันตกนั้น มองว่าหาก นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งอีกสมัย นโยบายต่างๆ น่าจะยังคงคล้ายเดิม ยังคงมีความเป็นมิตรกับประเทศฟิลิปปินส์ ยังให้การสนับสนุนไต้หวัน และยังคงกีดกันประเทศจีนต่อไป

แต่หากว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง โอกาสที่จะไม่สนใจไต้หวันและฟิลิปปินส์ก็มีความเป็นไปได้ ทำให้อิทธิพลของจีนจะแผ่ขยายได้มากขึ้น เพราะในครั้งก่อนทรัมป์ก็สนใจแต่สหรัฐ และต่อสู้กับจีนอย่างเดียว เพราะ ทรัมป์ มีนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจน คือ  America First สนใจแต่สหรัฐเท่านั้น รวมถึงมองว่าการสนับสนุนยูเครนลดลง ส่งผลให้สงครามในยูเครนจบลงเร็วขึ้น แม้อาจทำให้ยูเครนต้องสูญเสียพื้นที่ไปบ้าง แต่การส่งออกธัญพืช อาหารสัตว์ ปุ๋ย จะทำได้มากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ลดลง ซึ่งไทยจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย

กรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง อาจนำพาความไม่แน่นอนหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะในเรื่องของการขึ้นภาษี เพราะจะมีการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากสินค้าประเทศอื่นๆ รวมไทย 10% ซึ่งกระทบไทยโดยตรง แต่ด้วยจุดเด่นด้วยความเป็นมิตรของไทยทำให้เข้าได้กับทั้งสหรัฐฯ ซึ่งหากมีสงครามการค้ากับจีนรอบใหม่ อาจมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อจีนขายของให้สหรัฐฯไม่ได้ ก็ต้องหันหน้าไปขายตลาดอื่น อาจทำให้เกิดการแข่งขันทางราคาที่สูงขึ้น ซึ่งไทยก็ก็มีการซื้อสินค้าจ้นหลายรายการ ทำให้อาจได้ผลกระทบไปด้วย

นอกจากส่งผลกระทบทางด้านการค้าแล้ว ยังส่งผลต่อการย้ายฐานการลงทุนด้วย โดยเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าประเทศจีนเริ่มย้ายฐานการลงทุนมาในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้า ทำให้คาดว่าจะมีการลงทุนเข้ามาในไทยอีก 12 เดือนข้างหน้าค่อนข้างมากโดยเฉพาะจากจีน ปัจจุบันต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยอันดับ 1 ญี่ปุ่น อันดับ 2 สิงคโปร์ และอันดับ 3 จีน มองว่าจีนอาจจะค่อยๆ แซงอันดับ 2 และอับดับ 1 ได้ อุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้แก่ 1.อิเล็กทรอนิกส์ 2.ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.ไบโอเทคโนโลยี 

ขณะที่ประเด็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหสรัฐ (เฟด) ในปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีการปรับลดเพียง 1 ครั้ง ในเดือนธันวาคม 2567 ขณะที่ Dot Plot ในปี 2568 คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง แบ่งเป็นครั้งละ 0.25% ซึ่งคงต้องทำใจกันได้แล้วว่าแม้ดอกเบี้ยจะมีการปรับลดลงมาก็จริง แต่คงไม่ได้ลดลงมากไปกว่านี้อีกแล้ว และมองว่าดอกเบี้ยโลกจะไม่ต่ำไปกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาดอีก

ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย มองว่าถ้าปรับลดดอกเบี้นมีโอกาสจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในปลายปี 2567 นี้ โดยตอนนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยนับว่าต่ำที่สุดในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีส่วนต่างที่ห่างจากดอกเบี้ยเฟดประมาณ 3% ถ้า กนง. ลดดอกเบี้ยอีกจะยิ่งทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและดอกเบี้ยสหรัฐห่างกันมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงและมีเงินไหลออกได้มากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ กนง. ต้องพิจารณาว่าจะลดดอกเบี้ยเร็วกว่าเฟดดีหรือไม่ เพราะมีผลกระทบ

ส่วนปัจจัยเงินเฟ้อนั้น มองว่าเงินเฟ้อทั่วไปก็เริ่มปรับขึ้นแล้ว และราคาพลังงานโลกในปี 2567 นี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว อีกทั้งเมื่อดิจิทัล วอลเลตเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2567 จำนวน 500,000 ล้านบาท คิดเป็น 3% ต่อจีดีพี ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น ดังนั้น กนง. ก็เลยยังไม่อยากปรับลดดอกเบี้ยเร็วนัก อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าปี 2568 กนง. อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีกประมาณ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 0.25%

สำหรับปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไทยมีความน่าสนใจและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เพิ่มขึ้น เพราะไทยไม่ได้มีการเลือกข้างและเป็นมิตรกับทุกฝ่าย อีกทั้งในเรื่องของดิจิทัลอินฟราสตรัคเจอร์ของไทยก็ดี อินเทอร์เน็ตของไทยเร็วและแรง จะเป็นรองก็เพียงสิงคโปร์เท่านั้นในภูมิภาคนี้ ดังนั้นปัจจัยนี้ก็ทำให้ดูน่าสนใจขึ้นด้วยเช่นกัน และอีกปัจจัย คือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย รวมทั้งความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค จากปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นโอกาสของไทย

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าโครงสร้างของไทยไม่แข็งแรงก็จะไม่สามารถที่จะต้านสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกได้ เช่น ไวรัส สงคราม เป็นต้น ดังนั้นไทยจะต้องมีการปรับปรุงให้โครงสร้างแข็งแรง เช่น การพัฒนาทักษะของคน การทำให้เอสเอ็มอีของไทยแข็งแรงขึ้น ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ทำให้การแข่งขันมีความเป็นธรรมมากขึ้น และช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงฎกระเบียบอื่นๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ และลงทุนในไทย

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2567 นี้ คาดว่าจะดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปีนี้ แรงขับเคลื่อนหลักๆ จะมาจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐและเอกชน ทำให้ทั้งปี 2567 คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะอยู่ที่ระดับ 2.5-2.8% ดีกว่าปี 2566 ที่เศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.9% อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และต้นพลังงานที่เพิ่มขึ้น

"โอกาสภายใต้วิกฤติมองว่าไทยยังคงมีความเซ็กซี่ดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้อยู่ เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยไม่สูง ความมั่นคงแข็งแรง เงินทุนสำรองมีมาก อยากให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนกันหน่อย"ดร.กิริฎา กล่าว