FETCO เศรษฐกิจพ้นจุดต่ำ สิ้นปี 67 โต 3% ดัชนียืนเหนือ 1460 จุด

09 ก.ย. 2567 | 05:12 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2567 | 05:12 น.

FETCO ชี้เศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุด คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปียืนเหนือ 1460 จุด รับอานิสงส์กองทุนวายุภักษ์ และ กองทุน Thai ESG สร้างเม็ดเงินใหม่กว่า 3 แสนล้าน พร้อมเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้นสู่เกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ นักลงทุนหวังปัจจัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ประเมินทิศทางเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4/2567 มองว่าตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.67 จะเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าเศรษฐกิจภาพรวมยังไปได้ GDP 3% บวกลบ สะท้อนถึงว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจโลก

คาดการณ์ว่าด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงปลายปี 2567 มีโอกาสที่จะได้เห็นตัวเลขแตะที่ระดับ 4 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่อยู่ประมาณ 4 ล้านคน/เดือน ในส่วนของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการเติบโตได้แล้วกว่า 10% เชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังปียังคงไปต่อได้

ประเด็นเม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์ และ กองทุน Thai ESG คาดการณ์ว่าจะสร้างเม็ดใหม่เข้าสู่ตลาดทุนไทยได้รวมแล้วราว 2.6-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาช่วยพยุงตลาดในช่วงถัดไป จากความคลี่คลายปัญหาทางการเมือง ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น แต่ต้องรอดูต่อไปว่าตลาดจะสามารถขับเคลื่อนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาคนกังวลใจมากเกินไปทำให้ตลาดทิ้งตัวลงไปลึก

ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลใหม่ มีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจน และที่เป็นแรงช่วยตอนนี้ คือ ความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งก็สบายใจว่ารัฐมนตรีคลังยังคงเป็นทีมเดิม และใช้นโยบายชุดเดิมอยู่ ทำให้แนวคิดของกองทุนวายุภักษ์เดินหน้าได้ทันที ความต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ช่วย ทำให้กระบวนการต่างๆ ของนโยบายไปได้

สำหรับเม็ดเงินลงทุนใหม่จากทั้ง 2 กองทุนข้างต้นที่จะเข้ามาเพิ่มกว่า 2.6-3 แสนล้านบาทนั้น จะขับเคลื่อนตลาดทุนไทยได้เพิ่มแน่นอน โดยเดิมแล้วสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) คาดว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1379 จุด แต่ในวันนี้ทะลุ 1420 จุด แล้ว และจากเดิมที่ในเดือนก.ค. 2567 เคยคาดว่าณ ณ ปลายปี 2567 ดัชนีจะแตะที่ระดับ 1462 จุด นั้น ก็อาจต้องทำใหม่

เพราะขณะนั้นยังไม่มีคำตอบทางการเมืองที่ชัดขนาดนี้ พื้นฐานไทยน่าจะสนับสนุนได้ถึง 1460 จุดได้ หัวใจสำคัญในตลาดทุนทั้งหมด ประเทศไทยต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่ต่าลชาติอยากลงทุนได้ มองว่ากลุ่มพลังงาน เช่น ปิโตรฯ กลุ่มปตท. คิดเป็น 20-30% ของสัดส่วนมูลค่าของตลาดทุนไทยแล้ว มองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่ม Sunset ของปัญหาโลกร้อน โลกมีการเปลี่ยนไปเยอะ ดังนั้นกลุ่มปิโตรฯ เป็นกลุ่มที่ถูกผลกระทบแน่

ส่วนกลุ่มแบงก์ ที่ผ่านมาทำมาเยอะแล้ว ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี การเข้ามาของเทคโนโลยี จะทำให้การทำธุรกรรมการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ Upside มีไม่มาก ซึ่งกลุ่มแบงก์คิดเป็นสัดส่วนราว 10% มูลค่าของตลาดทุนไทย รวมกับกลุ่มปิโตรฯ แล้วก็เกือบครึ่งหนึ่งของตลาดฯ ระยะสั้นมองว่าคงยังพอผ่านไปได้

"ในระยะ 3-5 ปี จากนี้ ประเทศไทยต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยี หรือสตาร์ทอัพ เข้ามาสร้างจุดสนใจ เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเรายังทำไม่สำเร็จ ผ่านมากว่า 2-3 ปีที่พยายามผลักดันยังไม่ประสบความสำเร็จ เม็ดเงินจะมาเราก็ต้องสร้างเหตุให้เค้ามา สร้างสินค้าดีๆ ดึงดูดให้มีความน่าสนใจในการลงทุน"

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยที่คาดว่า GDP จะเติบโต 3% ได้จริง แต่ถ้ามองลึงลงไปจะพบว่าฐานรากมีปัญหา หนี้ครัวเรือน และ NPL ที่สูง สินชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีปัญหาปรับตัวเพิ่มสูง การที่ติดปัญหาการจ่ายหนี้แสดงว่ามีปัญหาจริง เพราะรถเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน การที่แจกเงิน 10,000 ล้านบาท ช่วยหมุนเศรษฐกิจในระยะสั้นๆได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี

"ส่วน 3-5 ปี มองว่าผลลัพท์ทางเศรษฐกิจ มองว่าจะดีต้องใส่พื้นฐานทางเศรษฐกิจลงไป ส่วนตัวก็อยากให้รัฐบาลลงในเรื่องมาตรการใหญ่ที่วางแผนลงทุนไว้ อาทิ EEC เรื่องของท่าเรือ สนามบิน รถไฟ รถไฟรางคู่ รถไฟใต้ดิน อยากให้หยิบขึ้นมาและขับเคลื่อนเลย เพราะจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"

และการให้ข้อมูลนักลงทุนต่างประเทศ เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ หลายสายตามองอาเซียนอยู่ และหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดก็คือไทย ไทยจะช่วงชิง FDI ได้มากขึ้น อีกสิ่งที่อยากให้ทำมากกว่านั้น คือ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานอย่างแท้จริง อยากสร้างให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ใหม่ด้านเทคโนโลยี ไทยไม่สามารถพึ่งพาสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยวไปได้ตลอดไป

แน่นอนว่าเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพสินค้าการเกษตรยังเป็นสิ่งที่สำคัญและยังต้องคงไว้ต่อไป เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่าปัญหาคือประเทศไทยที่ผ่านมายังลงทุนเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เพียงพอ มองว่าไทยยังสามารถเติบโตต่อไปได้และยังไม่แก่มากขนาดนั้น จะเห็นได้ว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียเองก็ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อยู่

การปรับโครงสร้าง การลงทุนในโครงสร้างใหญ่ๆ จะใช้เวลา 3-4 ปี ทำให้หลายรัฐบาลไม่อยากทำ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลสานต่อโครงสร้างเหล่านี้ เร่งเดินหน้าไปก่อน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ความกังวลใจเรื่องตลาดจะรุกรามไปหายไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น เมื่อการเมืองกลับมาได้และไม่ได้แย่ไปกว่านั้น รัฐบาลจะสานต่อนโยบายได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้ดูว่าเราทำได้ ความเชื่อมั่นก็จะกลับมา

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 สิงหาคม 2567) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.51 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด

รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และ สภาวะเงินเฟ้อ

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ 

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2567) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ที่ระดับ 132.51
  • ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มนักลงทุนสถาบัน และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” 
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์ (AUTO)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ  ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ

นอกจากนี้ ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 73.6% มาอยู่ที่ระดับ 144.26 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 28.4% มาอยู่ที่ระดับ 144.44 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 32.0% มาอยู่ที่ระดับ 120.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 275.0% อยู่ที่ระดับ 125.00

ในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม 2567 SET Index มีความผันผวนและปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,300 จุดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศจากผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการยุบพรรคก้าวไกลและการถอดถอนนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าได้จะรับข่าวดีจากการประกาศ GDP ไทยในไตรมาส 2/2567 เติบโตสูงกว่าคาด โดยขยายตัวที่ 2.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

ซึ่งได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก ทั้งนี้ SET Index ในช่วงครึ่งเดือนหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากการเมืองเริ่มมีความชัดเจน โดยมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และออกแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐในการแจกเงินสด 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางในโครงการ Digital Wallet

รวมถึงท่าทีของ FED ต่อการลดดอกเบี้ย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 ปิดที่ 1,359.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 44,404 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6,133 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 123,692 ล้านบาท

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ นโยบายการเงินของ FED ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า และสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งคาดหวังว่าจะกระตุ้นการลงทุนซึ่งรวมถึงผลการออกกองทุนวายุภักษ์เพื่อกระตุ้นตลาดทุนไทย และสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว