OKJ ยิ้มเข้าเทรดวันแรก ราคาหุ้นพุ่ง 50.74% แย้มศึกษาดีลลงทุนใหม่

04 ต.ค. 2567 | 05:53 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2567 | 08:05 น.

"ชลากร เอกชัยพัฒนกุล" ยิ้มรับ ราคาเปิดขายวันแรก OKJ พุ่ง 50.74% จากราคาไอพีโอ 6.70 บาท นักลงทุนเชื่อมั่นธุรกิจ ลุยนำเงินระดมทุนเสริมแกร่งธุรกิจ ขยายสาขา เพิ่มเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต แย้มเปิดโอกาสศึกษาดีลใหม่

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ ณ เวลา 12.31 น. อยู่ที่ระดับ 12.00 บาท เพิ่มขึ้น 5.30 บาท เปลี่ยนแปลง 79.19% จากราคาเปิดตลาดที่ระดับ 10.10 บาท เพิ่มขึ้น 3.4 บาท หรือ 50.74% จากราคาไอพีโอที่ 6.70 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,272 ล้านบาท

นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ เปิดเผยว่า ราคาเปิดการซื้อขายครั้งแรกในวันนี้ ผลออกมาค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัท ในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของบริษัทที่จะเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต

นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ

ด้วยศักยภาพของบริษัทและพื้นฐานการดำเนินธุรกิจให้บริการและจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Be Organic from Farm to Table” เน้นวิถีเกษตรอินทรีย์ (Organic) ภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” “Oh! Juice” และ “Ohkajhu Wrap & Roll” จะสนับสนุนให้ OKJ เป็นหุ้นที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ และมีความยั่งยืนในอนาคต

แผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี (2567-2571) บริษัทวางเป้าหมายในการขยายสาขาใหม่ทั้ง 3 แบรนด์ แบ่งเป็น วางแผนจะขยายสาขาแบรนด์ “โอ้กะจู๋” เป็น 67 สาขา จากปัจจุบันที่มีร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service Restaurant) และร้านอาหารในรูปแบบ Deliver & Kiosk รวมทั้งสิ้น 37 สาขา, ขยายสาขาแบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” ให้ครบ 20 สาขา จากปัจจุบันมี 1 สาขา

ขยายสาขาแบรนด์ “Oh Juice” ให้ครบ 70 สาขา จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8 สาขา ส่งผลให้มีสาขารวมทั้งสิ้น 157 สาขา ภายในปี 2571 เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ รวมทั้งหัวเมืองหลักในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจและสร้างแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงการศึกษาและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้าง New S-Curve

ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มโครงสร้างรายได้ที่จะเปลี่ยนเปลงไปตามการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนของ New Business จะมีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มเป็นกว่า 25% ของรายได้ทั้งหมด จากปัจจุบันที่ราว 5% และรายได้จาก แบรนด์ “โอ้กะจู๋” ที่เป็นรายได้หลักจะมีสัดส่วนที่ลดลงเหลือ 75% จากปัจจุบันที่กว่า 95%

 

 

ด้านการเติบโตของรายได้ปี 67 นี้ บริษัทคาดโตต่อเนื่อง จากสถิติในอดีตที่มีอัตราการเติบโตของรายได้สูงเฉลี่ยมากกว่า 40% ในปี 64-66 ซึ่งในปีนี้ก็จะพยายามรักษาการเติบโตไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แนวโน้มครึ่งปีหลังน่าจะโตต่อเนื่อง เพราะไตรมาส 4 ของทุกปี ตามปกติจะเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ทำให้คาดว่ายอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) ปลายปีนี้จะดีต่อเนื่อง จากครึ่งแรกปี 67 ที่ทำได้ 8%

ส่วนแผนการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ นั้น บริษัทเปิดกว้างโอกาสในการศึกษาการลงทุน ทั้งในรูปแบบการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ ปัจจุบันมีที่อยู่ระหว่างเจรจา 2-3 ดีล ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มและอื่นๆ ทั้งนี้ คาดว่าจะยังคงไม่เห็นในปีนี้ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาและเจรจาหาข้อตกลงที่ลงตัวร่วมกัน

แผนการขยายสาขา ยังคงเน้นในประเทศ โดยมองว่ายังมีโอกาสขยายให้แข็งแรงก่อน ส่วนขยายไปต่างประเทศอยู่ระหว่างศึกษา ดูทำเล โดยเป้าหมายในระยะยาวการขยายสาขา “โอ้กะจู๋” คงจะไปให้ถึง 100 สาขา แต่การที่จะไปให้ถึงขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ตอบโจทย์

ขณะเดียวกันบริษัทยังวางแผนในการขยายช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า ได้แก่ ร้านจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ (Delivery and Kiosk) เน้น Delivery และ Grab & Go, การให้บริการแบบ Drive Thru การบริการอาหารว่าง (Snack box) การสั่งอาหารทางออนไลน์ Food Delivery Platform ต่างๆ

อีกทั้งจากการได้รับการสนับสนุนจาก OR ที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท ซึ่ง OR เป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพ ที่พร้อมส่งเสริมการเติบโตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยายสาขาในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในทำเลที่มีศักยภาพ (Strategic location) การนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปวางจำหน่ายผ่านร้าน Café Amazon 

พร้อมกันนี้ บริษัทมีการวางจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เช่น ผัก สลัดพร้อมทาน ผ่าน Rimping Supermarket จ.เชียงใหม่ และ Gourmet Market ในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ OKJ ยังมีแผนในการเพิ่มบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอื่นๆ เช่น การจำหน่ายและบริการวางแผนมื้ออาหาร (Meal plan) และการจัดเลี้ยง (Catering) ตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และความนิยมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ

เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการทำเกษตรอินทรีย์ บริษัทให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนากระบวนการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต โดยได้ศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกให้เป็นเกษตรอินทรีย์เชิงอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ปริมาณที่ต้องการอย่างสม่ำเสมอ เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในพื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม โดยจะใช้เงินระดมทุนมาลงทุนในระบบและอุปกรณ์ที่ได้ศึกษาและออกแบบไว้

ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้อีกประมาณ 3 เท่า จากปริมาณผลผลิตที่ได้ในปัจจุบันที่ราว 800,000 กิโลกรัม/ปี  ประกอบกับมีกลยุทธ์ในการลงทุนและพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เช่น เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ เครื่องย้ายต้นกล้า เครื่องโปรยปุ๋ย รถไถพรวนดิน ระบบรดน้ำ เป็นต้น

รวมถึงมุ่งขยายเครือข่ายเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในการสรรหาผลผลิต ป็นการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร อีกทั้งลดการใช้เคมี คืนผืนป่าและต้นน้ำให้แก่ชุมชน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิตที่ได้รับจากเครือข่ายเกษตรกร จึงมีแผนในการพัฒนาสถานที่ที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพ (In-house lab) จากผักที่รับซื้อจากเกษตรกรทุกรอบ

นอกจากนี้ บริษัทได้เตรียมพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) โดยมีแผนในการสร้างครัวกลางกรุงเทพฯ แห่งใหม่ ในโซนรังสิต จ.ปทุมธานี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบได้ภายในไตรมาส 3/2568 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มสายการผลิตสินค้าใหม่ๆ ตลอดจนแผนพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงห้องล้างผัก และเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในครัวกลาง ระบบการบริหารจัดการวัตถุดิบสินค้าคงเหลือ และสำนักงาน เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต