วันนี้(13 ส.ค.64) ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้าพบ ร.ต.ท.ถิรพุทธิ์ สุขชัย และ ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. แจ้งความเอาผิด “ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” ทายาทเครือสิงห์ กรณีโพสต์ ข้อมูลเท็จ "วัคซีนผสมน้ำ” มีด้วยหรือ?
นายศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า ตามที่นายปิติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กตำหนิการจัดสรรวัคซีนของรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้นั้น
การโพสต์ข้อความได้ระบุว่า “ผมว่าจะไม่ลงละนะ แต่สงสารคนไทย ศบค.พูดโคตรชัดว่า วัคซีนทำให้จำนวนคนตายลดลง แล้วทำไมถึงเลื่อน ทำไมถึงฉีดไม่ได้ตามเป้า วัคซีนหายไปไหน รักกันมากๆ หน่อยสิ เตือนไว้ก่อนด่ามาจะด่ากลับ หมดความอดทนแล้วเหมือนกัน ไม่ต้องชื่นชมหรือมาซื้อของบริษัทผม ผมแค่ทำหน้าที่คนไทยคนนึงที่อยากเห็นสิ่งที่ดีขึ้น”
อีกทั้งยังได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวอีกว่า “ผมหวังว่าทุกอย่างมันจะดีขึ้นแต่ไม่เลย เลวลงทุกวัน ผมก็รู้จักนักการเมืองอยู่เยอะ พวกเค้าก็น่าจะรู้จักผมบ้าง ผมไม่ได้ท้าทายนะครับ แต่ผมถ้ามา ผมก็เอา” และ “ด่านหน้าต้องจับฉลากเพื่อจะได้ฉีด บางโรงบาลใช้วิธีผสมน้ำเพื่อให้ครบคน ผมขอสละตัวเองเป็นกระบอกเสียงให้พวกเค้าครับ และเมื่อผมเอาจริงคือเอาจริง”
การโพสต์ข้อความดังกล่าว มีสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ได้นำไปเผยแพร่อย่างมากมาย ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และเป็นที่สงสัยกันมากว่า วัคซีนที่แพทย์พยาบาลกำลังฉีดให้กับประชาชน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 อยู่ในขณะนี้นั้นมีการ “ผสมน้ำ” ในบางโรงพยาบาล เพื่อฉีดให้กับประชาชนได้ด้วยหรือ?
การโพสต์ข้อความดังกล่าวมีเจตนาอื่นหรือไม่ ประการใด หรือเป็นเพียงแค่การเอามัน เพื่อให้ประชาชนชื่นชมตนเองว่า มีความห่วงใยชาวบ้านเท่านั้น หรือ ถ้าเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ขอให้เปิดเผยออกมาว่ามีโรงพยาบาลแห่งใด ใช้วิธีการฉีดวัคซีนดังกล่าว
กรณีดังกล่าว สังคมไทยคงไม่เอามันด้วย เพราะเป็นการโพสต์ หรือ นำเข้าข้อความสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และอาจเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศฯ อันเป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขปี 2560 ม.14(2) ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความไปร้องต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อแจ้งความเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อนายต๊อด-ปิติ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในสังคมต่อไป แม้จะเป็นคนดัง คนเด่น คนรวยและใหญ่แค่ไหน ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนรับเรื่องไว้รายงานผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป