ราชกิจจาฯ คลอดกฎกระทรวงคุม“กระเช้าไฟฟ้า”เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้

13 ส.ค. 2564 | 23:39 น.

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวงควบคุม “กระเช้าไฟฟ้า” เป็นอาคาร และเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ เพื่อให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และแบบคำขอใบอนุญาต 

วันที่ 13 ส.ค.64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงการควบคุมกระเช้าไฟฟ้า พ.ศ. ๒๕๖๔


อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ (๒) (๘) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๕) และ (๑๖) และมาตรา ๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๓๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๓๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้


ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้


“กระเช้าไฟฟ้า” หมายความว่า สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นสําหรับขนส่งบุคคลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยการลากจูงให้เคลื่อนที่ไปตามลวดเกลียวโลหะ หรือเคลื่อนที่ไปตามราง หรือเคลื่อนที่ในลักษณะ เดียวกันด้วยระบบไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์


“ก่อสร้าง” หมายความว่า การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นใหม่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้น แทนของเดิมหรือไม่

 

“ดัดแปลง” หมายความว่า การดําเนินการใดหรือการเปลี่ยนแปลงที่กระทบโครงสร้าง ของกระเช้าไฟฟ้า ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน เนื้อที่ ของโครงสร้างของกระเช้าไฟฟ้าหรือส่วนต่าง ๆ ของกระเช้าไฟฟ้าซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม

 

“เปลี่ยนแปลง” หมายความว่า การเปลี่ยนระบบให้มีอัตราเร็วเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงอัตราการบรรทุกที่กําหนดไว้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจํานวนที่นั่ง ระยะเรียงของที่นั่ง หรือความสามารถในการรับน้ําหนักบรรทุกของที่นั่ง การเปลี่ยนแปลงระบบเบรก หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ของอุปกรณ์ หรือการเปลี่ยนกําลังส่งหรือรูปแบบของอุปกรณ์ส่งกําลังหลักหรือหน่วยส่งกําลังฉุกเฉิน หรือการเปลี่ยนแปลงระบบควบคุม

 

“รื้อถอน” หมายความว่า การถอดหรือรื้อถอนชิ้นส่วนของกระเช้าไฟฟ้าออกทั้งหมดหรือ บางส่วนในลักษณะถาวรโดยไม่ประสงค์จะนํามาใช้ตามที่ได้รับอนุญาตอีก

 

“เคลื่อนย้าย” หมายความว่า การเคลื่อนย้ายกระเช้าไฟฟ้าทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริเวณ ที่ตั้งเดิมไปยังที่ตั้งใหม่


“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย กระเช้าไฟฟ้า

 

“ใบรับรอง” หมายความว่า ใบรับรองให้ใช้กระเช้าไฟฟ้า

 

“วิศวกร” หมายความว่า วิศวกรโยธา วิศวกรไฟฟ้า หรือวิศวกรเครื่องกล แล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคํานวณ งานควบคุมการก่อสร้างหรือการผลิต งานอํานวยการใช้ หรืองานพิจารณาตรวจสอบ และได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมาย ว่าด้วยวิศวกร
                           ราชกิจจาฯ คลอดกฎกระทรวงคุม“กระเช้าไฟฟ้า”เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้

                                                หมวด ๑ 
การออกแบบ ก่อสร้าง ดัดแปลง เปลี่ยนแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายกระเช้าไฟฟ้า
                                                 -----------


ข้อ ๒ ให้กระเช้าไฟฟ้าเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา ๓๒ (๒)


ข้อ ๓ การออกแบบ ก่อสร้าง ดัดแปลง เปลี่ยนแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายกระเช้าไฟฟ้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วไปและกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นชอบ


ข้อ ๔ กระเช้าไฟฟ้าต้องมีระยะห่างจากเขตที่ดินของผู้อื่นไม่น้อยกว่า 5 เมตร เว้นแต่ได้รับ ความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านนั้น ทั้งนี้ ต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่าระยะปลอดภัย ตามมาตรฐานการออกแบบ ก่อสร้าง หรือดัดแปลงกระเช้าไฟฟ้าตามข้อ ๓

                            ราชกิจจาฯ คลอดกฎกระทรวงคุม“กระเช้าไฟฟ้า”เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้
 

ข้อ ๕ ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายกระเช้าไฟฟ้าต้องได้รับใบอนุญาต จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยให้ยื่นคําขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบ ขช. ๑ ท้ายกฎกระทรวงนี้ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว


การยื่นคําขออนุญาตตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นคู่มือของผู้ผลิตโดยอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย คู่มือการติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า คู่มือการใช้กระเช้าไฟฟ้า คู่มือการตรวจสอบกระเช้าไฟฟ้า คู่มือ การบํารุงรักษากระเช้าไฟฟ้า และคู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่จัดทําเป็นภาษาไทย รวมทั้งแผนผังเขตบริเวณประกอบกิจการ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคํานวณ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การออกใบรับรอง และการออกใบแทน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๑๔

 

ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคําสั่งไม่อนุญาต พร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในระยะเวลาที่กําหนดไว้ในมาตรา ๒๕
 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กฎกระทรวงการควบคุมกระเช้าไฟฟ้า พ.ศ. 2564