โควิดสายพันธุ์มิวดื้อต่อวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้

09 ก.ย. 2564 | 04:21 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 11:20 น.

หมอธีระเผยข้อมูลวิจัยล่าสุดจากญี่ปุ่นพบโควิดสายพันธุ์มิวดื้อต่อวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ระบุทุกประเทศต้องเฝ้าระวัง

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 9 กันยายน 2564 ทะลุ 223 ล้านไปแล้ว 
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 567,724 คน รวมแล้วตอนนี้ 223,341,839 คน ตายเพิ่มอีก 9,263 คน ยอดตายรวม 4,608,209 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร อิหร่าน และตุรกี  
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 141,082 คน รวม 41,372,881 คน ตายเพิ่ม 1,516 คน ยอดเสียชีวิตรวม 670,922 คน อัตราตาย 1.6% 
อินเดีย ติดเพิ่ม 43,406 คน รวม 33,138,856 คน ตายเพิ่ม 339 คน ยอดเสียชีวิตรวม 441,782 คน อัตราตาย 1.3% 
บราซิล ติดเพิ่ม 14,430 คน รวม 20,928,008 คน ตายเพิ่ม 213 คน ยอดเสียชีวิตรวม 584,421 คน อัตราตาย 2.8%
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 38,975 คน ยอดรวม 7,094,592 คน ตายเพิ่ม 191 คน ยอดเสียชีวิตรวม 133,674 คน อัตราตาย 1.9% 
รัสเซีย ติดเพิ่ม 18,024 คน รวม 7,065,904 คน ตายเพิ่ม 797 คน ยอดเสียชีวิตรวม 189,582 คน อัตราตาย 2.7% 
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อาร์เจนติน่า อิหร่าน และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น พรุ่งนี้อิหร่านจะแซงอาร์เจนติน่าได้
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 

หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 92.73 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง 
ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ติดเพิ่มกันหลักหมื่น
ส่วนเมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา ลาว และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และไต้หวัน ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
หมอธีระ ระบุต่อไปอีกว่า สถานการณ์ไทยเรา 
เมื่อวานจำนวนติดเชื้อใหม่อยู่ลำดับ 11 ของโลก แต่หากรวมยอด ATK ด้วยก็จะพบว่าสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก

สายพันธุ์มิวดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้
ยอดติดเชื้อสะสมของเราอยู่อันดับที่ 29 มีโอกาสแซงบังคลาเทศและแคนาดาได้ภายในปลายเดือนกันยายนนี้
ไวรัสสายพันธุ์มิว (Mu)
องค์การอนามัยโลกกำลังจับตาดูไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์มิว (B.1.621) ซึ่งพบครั้งแรกที่โคลอมเบีย ตั้งแต่มกราคม 2564 และมีการแพร่ระบาดไปแล้ว 39 ประเทศทั่วโลก (สถิติ ณ 30 สิงหาคม 2564) โดยกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่สนใจ (variant of interest) เพราะสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ถึง 8 ตำแหน่งตรงบริเวณหนามของไวรัส ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 4 ตำแหน่งที่เหมือนกันกับที่พบในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern) ทั้งอัลฟา เบต้า แกมม่า และเดลตา
แม้มีการประเมินว่าผ่านมาแปดเดือน สายพันธุ์นี้ก็ระบาดไปไม่มากนัก โอกาสจะขยายวงระบาดใหญ่มาเหนือเดลต้าน่าจะเป็นไปได้ยาก

แต่ข้อมูลวิจัยหลายชิ้นก็สะท้อนให้เห็นว่าต้องไม่ประมาท
ล่าสุดทีมวิจัยจากญี่ปุ่นศึกษาพบว่า สายพันธุ์มิว (B.1.621) นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) ที่เคยเชื่อกันว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อที่สุด
เรื่องนี้แต่ละประเทศจึงต้องมีการเฝ้าระวังให้ดี 
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 37,461,284 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 25,954,106 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 10,900,001 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 607,177 ราย