นายจ้าง ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท/วัน หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ-จ้างงาน

29 เม.ย. 2565 | 06:11 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 13:12 น.

สภาองค์การนายจ้าง ยื่นหนังสือ ผ่าน รมว.สุชาติ ขอรัฐบาลพิจารณาทบทวนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่เห็นด้วยขึ้น 492 บาททั่วประเทศ ชี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ ธุรกิจบางประเภทปิดชั่วคราว และขาดแคลนแรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ดร.ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ ในโอกาสนำตัวแทนคณะสภาองค์การนายจ้างฯ ซึ่งมี สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ สภาองค์การนายจ้าง สภาอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย สภาองค์การนายจ้างธุรกิจและอุตสาหกรรมแห่งชาติ และสมาคมนายจ้าง 40 - 50 สมาคมนายจ้าง เข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำตามความเป็นจริงและเหมาะสม ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นจาก 331 บาทเป็น 492 บาททั่วประเทศ 

 

โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ดร.จำลอง ช่วยรอด คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน 

นายสุชาติ กล่าวว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว 

 

ในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 

 

ดร.ทวีเกียรติ กล่าวว่า ในวันนี้สภาองค์การนายจ้างฯ มีมติยังไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ผู้ประกอบการนายจ้างบางประเภทต้องหยุดกิจการชั่วคราว แรงงานขาดแคลน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบ ตลอดจนสถานการณ์สู้รบของประเทศเพื่อนบ้านและสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน รัสเซียยังไม่นิ่ง

 

กรณีจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงขอให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเนื่องจากสภาองค์การนายจ้าง และ สมาคมนายจ้าง ยังไม่เห็นสมควรขึ้นในช่วงนี้ และเห็นสมควรให้คณะกรรมการไตรภาคี โดยฝ่ายภาครัฐเป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำเสนอ