เตือน!เป็นโรคหัวใจ-หลอดเลือดติดเชื้อ "โควิด"เสี่ยงตายมากขึ้น 1.7 เท่า

06 ก.ค. 2566 | 04:51 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 04:52 น.

เเตือน!เป็นโรคหัวใจ-หลอดเลือดติดเชื้อ "โควิด"เสี่ยงตายมากขึ้น 1.7 เท่า หมอธีระเปิดผลการศึกษาประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคหัวใจ Frontiers in Cardiovascular Medicine เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม

โควิด 19 ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตา และเฝ้าระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เนื่องจากการติดเชื้อโควิดในปัจจุบันยังไม่สามารถมีวัคซีนที่สาามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีนาในการรักษาโรคโดยเฉพาะ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ โดยมีข้อความระบุถึงการอัพเดทเรื่องของโควิด ว่า

คนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หากติดโควิด-19 เสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น 1.7 เท่า

หมอธีระบอกว่า เป็นผลการศึกษาประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคหัวใจ Frontiers in Cardiovascular Medicine เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ศึกษาในผู้ป่วย 1,567 คน พบว่า ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 โดยมีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน จะมีโอกาสเสียชีวิตระหว่างที่รับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด ถึง 1.76 เท่า

หมอธีระยังบอกอีกว่า หลังยกเลิกนโยบาย Zero COVID ในจีน งานวิจัยประเมินว่าการติดเชื้อและเสียชีวิตมีจำนวนมาก

เป็นโรคหัวใจ-หลอดเลือดติดโควิดเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น 1.7 เท่า

ทีมวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลวิจัยโดยสร้างโมเดลประเมินสถานการณ์ในช่วงธันวาคม 2022 ถึงมกราคม 2023 ในประเทศจีน หลังจากที่ยกเลิกนโยบาย Zero COVID

ผลการศึกษาพบว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ดังกล่าวมีการติดเชื้อแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วโดยมี doubling time เพียง1.6 วัน และคาดประมาณว่ามีจำนวนประชากรที่ติดเชื้อไปราว 1,300 ล้านคน เสียชีวิตไปราว 1.3-2.6 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาข้างต้นคงต้องเปรียบเทียบกับข้อมูลการศึกษาและรายงานจากแหล่งอื่นๆ มาประกอบกันด้วย 

ทั้งนี้ เรื่องที่ชัดเจนคือ ไวรัสสายพันธุ์ Omicron นั้นมีสมรรถนะในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วแน่นอน หากไม่ป้องกันควบคุมให้ดี ดังที่เห็นได้จากการระบาดทั่วโลกตลอดสองปีของ Omicron ที่ผ่านมา 

แม้ไทยเราตอนนี้เป็นขาลง แต่บทเรียนระลอกล่าสุดชี้ให้เห็นแล้วว่า ปะทุขึ้นมาจากการเรื่องพฤติกรรมการป้องกันตัว มาตรการควบคุมป้องกันโรคและการนำไปปฏิบัติที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สัมพันธ์กับเทศกาลต่างๆ ที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงมีนาคมและเมษายน 

การปะทุขึ้นย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกเช่นกันในอนาคต

ดังนั้น การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ เป็นเรื่องจำเป็น

ระมัดระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกบ้านโดยไม่ป้องกันตัว

ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก