เปิดหลักการดูแลสุขภาพกาย-ใจศาสตร์แผนจีน"เทศกาลกินเจ 2566"

14 ต.ค. 2566 | 03:03 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2566 | 03:04 น.

เปิดหลักการดูแลสุขภาพกาย-ใจศาสตร์แผนจีน"เทศกาลกินเจ 2566" หลังการถือศีลกินผักรักษาศีลปฏิบัติตามหลักธรรม และงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ชําระจิตใจให้บริสุทธิ์กำลังจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15-23 ต.ค. 66

เทศกาลกินเจ 2566 ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 -23 ตุลาคม 2566 รวม 9 วัน  9 คืน 

ทั้งนี้ เทศกาลถือศีลกินเจเป็นหนึ่งในประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยจะปฏิบัติตนด้วยการรักษาศีล ปฏิบัติตามหลักธรรม และ งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเชื่อว่า เป็นการชําระจิตใจให้บริสุทธิ์

โดยประเด็นที่สาคัญนอกจากการถือศีลกินผักเพื่อเป็นบุญกุศลแล้ว สุขภาพร่างกายของผู้กินเจก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปดูหลักการดูแลสุขภาพกาย และใจตามศาสตร์แผนจีนในช่วง "เทศกาลกินเจ 2566"

นายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน มีหลักการดูแลสุขภาพช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ คือ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อให้เกิดความสมดุลของร่างกาย 
 

สำหรับการเลือกรับประทานอาหาร มีข้อแนะนำดังนี้ 

  • ผักและผลไม้ที่นำมาประกอบอาหารเจส่วนใหญ่มักจะมีฤทธิ์เย็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายของคนบางประเภทที่ไม่ชอบความเย็น แล้วอาจทำให้มีผลกระทบต่อร่างกาย เช่น มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องอืด ท้องเสียง่าย ทำให้ง่วงบ่อย และรู้สึกไม่สดชื่น ทางที่ดีก่อนจะรับประทานควรนำพืช ผักต่างๆไปปรุงด้วยความร้อนซึ่งจะทำให้ฤทธิ์เย็นลดลงได้ และไม่เกิดอาการดังกล่าว 

เปิดหลักการดูแลสุขภาพกาย-ใจตามศาสตร์แผนจีน"เทศกาลกินเจ 2566"

  • รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งจำพวกโปรตีนสามารถรับประทานในรูปแบบธัญพืชและพืชตระกูลถั่วได้ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง อัลมอนด์ โปรตีนเกษตร และเต้าหู้ เพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ 
  • ลดการรับประทานของทอด ของมัน และแป้ง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หวาน มัน และเค็ม โดยตามคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง กล่าวว่า การทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม รสจัด มากเกินทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นควรลดอาหารรสจัด และเปลี่ยนการปรุงอาหารจากผัดหรือใช้น้ำมันมาเป็นการลวกหรือนึ่งแทน 
  • ไม่ควรรับประทานอาหารต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และรับประทานอิ่มเกินไป ควรทานอาหารแต่ละมื้อโดยมีหลักที่ว่ามื้อเช้าให้กินดี มื้อกลางวันกินให้อิ่ม มื้อเย็นกินให้น้อย และ หลังมื้ออาหารให้ดื่มชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยการย่อย เช่น ชาแดงเปลือกส้มซานจา ประกอบด้วย ชาแดง 2 กรัม เปลือกส้ม 9 กรัม และซานจา 7 กรัม สรรพคุณช่วยการย่อยอาหารจำพวกไขมันได้ 

อย่างไรก็ดี การรับประทานอาหารเจมีข้อพึงระวังในผู้ป่วยหรือผู้ที่กำลังพักฟื้นร่างกาย ไม่เหมาะที่จะรับประทานอาหารเจ เนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อมาซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ต้องการสารอาหารให้ครบถ้วนในการเจริญเติบโต และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง เพราะอาหารเจที่เป็นโปรตีนจากถั่วเหลืองจะมีปริมาณฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ซึ่งอาจมีผลต่อโรคดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากหลักการเลือกรับประทานอาหารเจแล้ว แนะนำการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงในช่วงเทศกาลกินเจ เช่น รำมวยไทเก๊ก ชี่กง ว่ายน้ำ เดินเบาๆ หรือตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย โดยควรออกกำลังกายทุกวัน วันละ 1 - 2 ครั้ง ช่วงเช้าตรู่หรือช่วงหลังอาหารเย็น ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง พร้อมทั้ง ทำจิตใจให้สงบดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม