ไทยผนึกอาเซียน ผลักดันสุขภาพดิจิทัล ลดภาระค่ารักษา-โรค NCDs

08 ส.ค. 2567 | 06:50 น.
อัพเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2567 | 06:55 น.

สมศักดิ์ นำคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุม รมต.สาธารณสุขอาเซียน ผลักดันสุขภาพดิจิทัล ลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดภาระค่าใช้จ่ายประเทศ พร้อมโชว์วิสัยทัศน์อาเซียนด้านสุขภาพหลังปี 2025 สร้างความมั่งคงทางสุขภาพให้ชุมชนอาเซียน ต่อยอดภูมิปัญญาให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

8 สิงหาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (16th ASEAN Health Ministers and Related Meetings : AHMM) อย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.บุนแฝง พูมมะไลสิด รมว.สาธารณสุข สปป.ลาว เป็นประธาน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ การเสริมสร้างศักยภาพของระบบสุขภาพภายหลังสถานการณ์โรคระบาด เพื่อเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวของภูมิภาค โดยได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนเพื่อยกระดับระบบบริการสุขภาพและสร้างสุขภาวะที่ดี

พร้อมยกตัวอย่างการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวของไทยที่ปัจจุบันให้บริการประชาชนได้มากถึง 45 จังหวัดและจะครอบคลุมทั่วประเทศในปลายปีนี้ ตลอดจนการพัฒนาระบบ Imaging Hub และระบบ Thailand Health Atlas เพื่อสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของบุคลากร 

โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในการจัดการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ให้การดูแลสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตปกติ เช่น การรับประทานอาหารเป็นยาซึ่งจะช่วยลดจำนวนคนเข้าโรงพยาบาล ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาของรัฐได้อย่างน้อยปีละกว่า 2,000 ล้านบาท

ไทยผนึกอาเซียน ผลักดันสุขภาพดิจิทัล ลดภาระค่ารักษา-โรค NCDs

ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและมีความพร้อมในการผลักดันระบบสุขภาพดิจิทัล ตลอดจนการดูแลสุขภาพของประชาชน และพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความร่วมมือกับทุกประเทศสมาชิก ในการผลักดันและยกระดับระบบบริการสุขภาพดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ทั้งนี้ ช่วงเช้าวันนี้ได้ร่วมหารือรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 16 อย่างไม่เป็นทางการ (AHMM Retreat) ในประเด็น "วิสัยทัศน์และจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพของอาเซียน หลังปี พ.ศ. 2568" ซึ่งประเทศไทยได้เสนอวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นการสร้างชุมชนอาเซียนให้มีความมั่นคงทางสุขภาพ เสริมสร้างระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง พร้อมรับมือภัยคุกคามด้านสุขภาพทุกรูปแบบ โดยเฉพาะโรคที่สามารถป้องกันได้

รวมทั้งต่อยอดภูมิปัญญาทางการแพทย์ของอาเซียนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมภูมิปัญญาการแพทย์และสมุนไพรท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการจัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวดไทยสำหรับประเทศสมาชิกที่สนใจ 

ไทยผนึกอาเซียน ผลักดันสุขภาพดิจิทัล ลดภาระค่ารักษา-โรค NCDs

นายสมศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า ในโอกาสนี้ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งการลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โดยจัดตั้งโรงเรียนเบาหวานวิทยา การขับเคลื่อนแนวคิดอาหารเป็นยาและการพัฒนาศักยภาพ อสม. ซึ่งประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับประเทศสมาชิกในการพัฒนาศักยภาพประชาชนเป็นอาสาสมัครด้านสุขภาพ

นอกจากนี้จากการที่ประเทศไทยได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ หรือ ACPHEED และศูนย์ ACPHEED ด้านการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ต้องขอบคุณทุกประเทศที่ร่วมกันผลักดัน

ไทยผนึกอาเซียน ผลักดันสุขภาพดิจิทัล ลดภาระค่ารักษา-โรค NCDs

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลงนามในข้อตกลงความร่วมมือแล้วเสร็จ ภายในวาระการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการป้องกัน ตรวจจับ และตอบโต้โรคและภัยสุขภาพในภูมิภาค เสริมศักยภาพบุคลากรในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป