ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb nanlytics) ประเมินว่าในปีนี้จะมีรายได้กว่า 3.22 แสนล้านบาท ขยายตัว 4% จากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 3.14 แสนล้านบาท แม้จะเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา กำลังซื้อที่ลดลงในช่วงตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา แต่พบว่าผลประกอบการโดยรวมกลับคึกคักและมีการเติบโตขึ้นถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ซึ่งพบว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 มีรายได้รวม 26,058 ล้านบาท เติบโต 7% กำไรสุทธิ 3,335ล้านบาท เติบโต 9%จากช่วงเวลา ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 7% (รายได้จากผู้ป่วยชาวไทย 5 % และรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ 11%) ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกมีรายได้รวม 52,987 ล้านบาท เติบโต 9% กำไรสุทธิ 7,408 ล้านบาท เติบโต 14%
ขณะที่บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จำกัด (มหาชน) หรือ BH พบว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 มีรายได้รวม 6,331 ล้านบาท เติบโต 3% กำไรสุทธิ 1,932 ล้านบาท เติบโต 10.5% ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกมีรายได้รวม 12,901 ล้านบาท เติบโต 5.4% กำไรสุทธิ 3,917 ล้านบาท เติบโต 17.6% ซึ่งมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยทั่งชาวไทยและต่างชาติเช่นกัน
ด้านบริษัทพริ้นซิเพิล แคปิตอลจำกัด (มหาชน) หรือ PRINC พบว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 มีรายได้รวม 1,308.3 ล้านบาท เติบโต 14.3% กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 77.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 210 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 มีรายได้จากการให้บริการทางการแพทย์อยู่ที่ 2,686.1 ล้านบาทเติบโต 21.4%
โดย นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ และรองประธานคณะกรรมการ บริษัทพริ้นซิเพิล แคปิตอลจำกัด (มหาชน) หรือ PRINC กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบันตอนนี้ไม่สดใสมากนัก เพราะต่างได้รับผลกระทบจากสงครามกันถ้วนหน้า แต่แนวโน้มของธุรกิจที่จะเติบโตและเป็นไปได้มากที่สุดคือเรื่องสุขภาพและการแพทย์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ยังตอบสนองด้านความสะดวกได้ดี มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอที่สามารถรักษาโรคยากที่ซับซ้อนได้
อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนลงทุนขยายธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลและธุรกิจเฮลแคร์ ไม่ว่าจะเป็น การแสวงหาการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลตามเป้าหมาย 20 แห่งจากปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือ 18 แห่งใน 14 จังหวัด โดยมุ่งขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทางรักษาโรคยากซับซ้อนเช่น ศูนย์รักษาโรคมะเร็ง (Cancer Center) ศูนย์รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart Center) รวมถึงการลงทุนในธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ (Eldercare), คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก (IVF) ฯลฯ
“หลังจากที่ PRINC มีแผนขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่โรงแรมและอาคารสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ราว 10% ของรายได้ทั้งหมด ประเมินว่าการขยายธุรกิจโรงพยาบาลและการรับรู้รายได้โรงพยาบาล เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 3 แห่งประกอบด้วยรพ. เชียงใหม่ ฮอสพิทอล, รพ.ราชสีมา ฮอสพิทอลและรพ. พิษณุโลก ฮอสพิทอล จะทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาและชดเชยรายได้จากธุรกิจอสังหาที่ลดลงไป ทำให้ PRINC ยังคงมีการเติบโตที่ 10-15% ในระยะเวลา 5 -10 ปีนับจากนี้”
อีกหนึ่งกลุ่มโรงพยาบาลที่ทำผลประกอบการออกมาได้ดี คือ บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ THG ซึ่งพบว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 มีรายได้รวม 2,362 ล้านบาท กำไรสุทธิ 52 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2567 ทำรายได้รวม 4,699 ล้านบาท กำไรสุทธิ 74 ล้านบาท โดยนายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG กล่าวว่า ผลประกอบการของ THG ถูกกดดันจากปัจจัยต้นทุนการดำเนินงานที่สูง ซึ่งเป็นผลจากค่าเสื่อมราคาและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการลงทุนก่อนหน้า ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องมือแพทย์เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการทั้งในโรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา และโรงพยาบาลส่วนภูมิภาคหลายแห่ง
รวมถึงผลกระทบจาก 2 โครงการขนาดใหญ่ คือ โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ และโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่ลงทุนและเปิดตัวช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ภาวะเศรษฐกิจชะงัก ส่งผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดิม ทำให้การเติบโตไม่เป็นไปตามเป้า โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับทางพันธมิตรเพื่อพัฒนาพื้นที่ด้านหลังให้โครงการสมบูรณ์มากขึ้น
อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เริ่มกลับมามีผลประกอบการในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น หลังคณะผู้บริหาร THG ตัดสินใจปรับทิศทางธุรกิจจากเดิมมุ่งจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น Medical tourism มาเป็นกลุ่มผู้ป่วยในประเทศ พร้อมส่งทีมงานของโรงพยาบาลธนบุรี และโรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา เข้ามาร่วมบริหาร
“ครึ่งหลังของปีนี้ โครงการที่ลงทุนก่อนหน้า อาทิ อาคารผู้ป่วยนอก 8 ชั้น ของโรงพยาบาลธนบุรี หรือ อาคารทำการแห่งใหม่ของโรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา เพื่อรองรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินงานและรับรู้รายได้ใหม่ทันทีสอดรับการเข้าสู่ไฮซีซั่นธุรกิจโรงพยาบาล ด้านโรงพยาบาลธนบุรี ราษฎร์ยินดี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็เตรียมเปิด Wellness Center และอาคารจอดรถ ทั้งมีแผนขยายตึกรองรับผู้ป่วยเช่นกัน ขณะที่ศูนย์ BeWell Health and Wellness Clinic ในโฮจิมินห์ เวียดนาม ยังคงเตรียมเปิดตามแผน”
ด้าน ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบางกอก เชน ฮอสปิทอลจำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมีแนวโน้มเติบโต โดยในไตรมาส 1/2567 BCHมีรายได้รวม 2,865 ล้านบาท เติบโต 6.4% กำไรสุทธิ 318.9 ล้านบาท เติบโต 25.6%และในไตรมาสที่ 2/2567 มีรายได้รวม 2,898 ล้านบาท กำไรสุทธิ 277.1 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการงวด 6 เดือนมีรายได้รวม 5,763 ล้านบาท กำไรสุทธิ 596 ล้านบาท เติบโต 10.74%
ส่วนในครึ่งปีหลัง มองว่ามีทิศทางที่ดีเพราะอยู่ในช่วงไฮซีซั่น โดยเฉพาะไตรมาส 3 มีลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขพัฒนาต่อไป รวมถึงความไม่แน่นอนจากระบบเงินประกันสังคมด้วย
ขณะที่นายรณชิต แย้มสอาดประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ PHG กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรสุทธิของแพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป มาจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าปกติ หรือ Normalized revenue ได้แก่รายได้จากกลุ่มลูกค้าทั่วไปและกลุ่มลูกค้าคู่สัญญา และรายได้จากกลุ่มลูกค้าโครงการประกันสังคม โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และโครงการสวัสดิการข้าราชการ
โดย PHG มีรายได้ในไตรมาส 2/2567 รวม 526.67 ล้านบาท เติบโต 7.97% กำไรสุทธิ 36.61 ล้านบาท เติบโต 16.74% ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีมีรายได้รวม 1,093.39 ล้านบาท เติบโต 12.37% กำไรสุทธิ 103.16 ล้านบาท เติบโต 35.90%