นางสาววิมล ฉ่างทองคำ รองประธานบริษัท อาวุโสแผนกสวัสดิการพนักงาน ประกันชีวิต สุขภาพ และฝ่ายขาย บริษัท มาร์ช พีบี จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาสุขภาพจิตในสถานที่ทำงานกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ผลสำรวจของ Marsh McLennan ประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงและประกันภัย ระบุว่าพนักงานในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ประสบปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 83% ส่งผลกระทบทั้งตัวบุคคลและองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพจิตในสถานที่ทำงาน ได้แก่ 1.ภาระงานที่เพิ่มขึ้นและความเครียดจากการทำงาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้พนักงานต้องเผชิญกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น ความคาดหวังที่สูงขึ้น และขอบเขตการทำงานที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมและภาวะ Burnout
2.ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในอาชีพและโอกาสในการเติบโต ส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่มั่นคง ผลสำรวจล่าสุดพบว่าพนักงานจำนวน 44% รู้สึกขาดโอกาสในการก้าวหน้าในสายอาชีพ และอีก 56% กังวลเกี่ยวกับความแตกต่างในการปฏิบัติระหว่างพนักงานใหม่และพนักงานเก่า
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในครั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้พนักงานเกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตในองค์กร นอกจากนี้ระบบการพัฒนาบุคลากรที่ยังไม่ชัดเจนและขาดโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าขาดโอกาสในการเติบโต
3.ความไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน การทำงานล่วงเวลาบ่อยครั้งและการทำงานจาก ระยะไกล แม้จะให้ความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ก็มาพร้อมกับปัญหาที่ซ่อนอยู่ เช่น ขอบเขตการทำงานที่ไม่ชัดเจน การทำงานที่บ้านทำให้พนักงานรู้สึกว่าต้องพร้อมทำงานตลอดเวลา ไม่มีเวลาส่วนตัว ทำให้พนักงานขาดเวลาพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ ส่งผลให้เกิดความเครียดและความเหนื่อยล้า
4.ปัญหาทางการเงินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่มั่นคง เมื่อพนักงานมีความไม่แน่นอนทางการเงิน เช่น หนี้สินจำนวนมาก รายได้ไม่เพียงพอ หรือความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียงาน จะนำไปสู่ความวิตกกังวลต่ออนาคตอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงาน
ด้านนายพิรทัต ศรีสัจจะเลิศวาจา กรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการสายธุรกิจที่ปรึกษาทรัพยากรมนุษย์ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรโดยรวมในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น ลดประสิทธิภาพการทำงาน, อัตราการลาป่วย และลาออกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงขวัญและกำลังใจของพนักงานที่ลดลง
ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในสถานที่ทำงาน จึงควรให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงานอย่างจริงจัง และสื่อสารให้พนักงานทุกคนทราบว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หรือองค์กรควรจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพจิต รวมถึงองค์กรควรปรับปรุงสภาพการทำงานให้เอื้อต่อการทำงาน ลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มวันหยุดพักผ่อน และให้ความยืดหยุ่นในการทำงาน
“ปัญหาสุขภาพจิตในสถานที่ทำงานเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไข
หากองค์กรสามารถจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อทั้งพนักงาน องค์กร และสังคมโดยรวม”
หน้า 16 ฉบับที่ 4,031 วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567