ฮันนีมูนแพ็กเกจ EV ภาษีนำเข้า 0% หนุนค่ายรถญี่ปุ่นสู้จีน ก่อนผลิตไทยปี 2568

24 ก.พ. 2565 | 02:24 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2565 | 09:42 น.

ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น-จีน วางแผนผลิต EV ในไทย “เอ็มจี” เริ่มปี 2566 ส่วน “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ปี 2567 “โตโยต้า” คาดว่าจะพร้อมในปี 2568 หลังรัฐบาลเคาะมาตรการส่งเสริม 4 ปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท ช่วงฮันนีมูนจูงใจรถนำเข้า เอื้อค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นสู้กับ FTA จีน 0% 

เมื่อรัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ไข FTA จีน-อาเซียน ที่มีผลต่อการนำเข้า EV ระหว่างกันโดยไม่เสียภาษีนำเข้า ซึ่งถือเป็นแต้มต่อสำคัญที่ทำให้ค่ายรถยนต์จากจีนทำราคา EV ได้น่าสนใจ ทั้ง เอ็มจี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ รวมถึงค่ายอื่นๆ ที่เตรียมนำเข้า EV ตามมาอีกเพียบ

 

ดังนั้น มาตรการสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV ในวาระเร่งด่วนระหว่างปี 2565-2568 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆ ดูจะเข้าทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น (ที่สนใจทำตลาด EV) เป็นพิเศษ

ฮันนีมูนแพ็กเกจ EV ภาษีนำเข้า 0% หนุนค่ายรถญี่ปุ่นสู้จีน ก่อนผลิตไทยปี 2568 ฮันนีมูนแพ็กเกจ EV ภาษีนำเข้า 0% หนุนค่ายรถญี่ปุ่นสู้จีน ก่อนผลิตไทยปี 2568

ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีแผนส่งเสริมให้เกิดการใช้รถพลังงานไฟฟ้า EV เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นสัดส่วน 30% จากกำลังผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 หรือนโยบาย30@30 (ปี 2030)

 

หากรัฐบาลไม่มีวัคซีน EV บูสเตอร์ ตลาดรถยนต์เมืองไทยคงจะขยับไปสู่เป้าหมายนี้ได้ยาก จึงเป็นที่มาของมาตรการสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV ในวาระเร่งด่วน และวางแผนใช้เงินสนับสนุนถึง 40,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกโครงการนี้เหมือนจะสนับสนุน EV นำเข้า แต่เป้าหมายหลักเพื่อปูทางสู่การลงทุนผลิตในประเทศ หวังสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกัน หากมีจำนวน EV วิ่งมากขึ้นบนท้องถนน จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะไปในตัว

 

สำหรับมาตรการสนับสนุน EV แบ่งเป็นประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 10 ที่นั่ง ราคาขายตํ่าว่า 2 ล้านบาท ด้านภาษีนำเข้าจากกรณีปกติที่ต้องเสียอัตราไม่เกิน 40% (ญี่ปุ่น, เกาหลี) จะเหลือ 0% และกลุ่มที่ต้องเสีย 80% (ยุโรป, สหรัฐอเมริกา) ให้ลดอัตราลง 40% ภายในปี 2565-2566ส่วนภาษีสรรพสามิต ลดจาก 8% เหลือ 2% ภายในปี 2565-2568

นอกจากนี้ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ยังได้รับเงินอุดหนุนต่อคันเพิ่มเติม โดยรุ่นที่ใช้แบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จะได้รับเงิน 1.5 แสนบาท และรุ่นแบตเตอรี่ 10-30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้รับเงิน 7 หมื่นบาท

 

ส่วน EV ราคา 2-7 ล้านบาท ไม่ได้รับเงินสนับสนุน แต่จะได้เพียงมาตรการด้านภาษี โดยกลุ่มที่ต้องเสียภาษีนำเข้า 80% ให้ลดลงเหลือ 60% ส่วนกลุ่มที่เสีย 40% (เกาหลี) ให้ลดลงเหลือ 20% และกลุ่มที่เสีย 20% (ญี่ปุ่น) ให้ลดลงเหลือ 0% ส่วนภาษีสรรพสามิตได้เหมือนกรณี EV ราคา ไม่เกิน 2 ล้านบาท

ฮันนีมูนแพ็กเกจ EV ภาษีนำเข้า 0% หนุนค่ายรถญี่ปุ่นสู้จีน ก่อนผลิตไทยปี 2568 ฮันนีมูนแพ็กเกจ EV ภาษีนำเข้า 0% หนุนค่ายรถญี่ปุ่นสู้จีน ก่อนผลิตไทยปี 2568

ภายใต้เงื่อนไขซึ่งถือเป็นกฎเหล็กของมาตรการนี้ คือค่ายรถที่นำเข้า EV มาทำตลาดภายใต้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งรับเงินสนับสนุนต่อคัน และลดภาษีนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต จะผลิตมีแผนผลิตในประเทศชดเชยในจำนวนที่เท่ากับ หรือมากกว่าเป็น 1.5 เท่า ตั้งแต่ปี 2567-2568 เป็นต้นไป โดยกลุ่มตํ่ากว่า 2 ล้านบาท ไม่ต้อง ผลิตให้ตรงกับรุ่นที่นำเข้ามาก่อน ส่วน EV ราคา 2-7 ล้านบาท หากนำเข้า รุ่นไหนมา ต้องผลิตชดเชยในรุ่นนั้น

 

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขต่างๆ ของมาตรการนี้ จะเห็นว่าเข้าทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเต็มๆ เพราะทั้ง EV ราคาตํ่ากว่า 2 ล้านบาท และเกิน 2 ล้านบาท จะเสียภาษีนำเข้า 0% (เท่ากับ FTA จีน) ในขณะที่ EV เกาหลี และยุโรป ที่ราคาเกิน 2 ล้านบาท ได้ลดภาษีนำเข้าลงมาจากอัตราปกติแค่ 20%

 

นอกจากนี้ การวางเงื่อนไขผลิตชดเชยไม่ต้องตรงรุ่น กับที่นำเข้ามาใช้สิทธิ์ สำหรับ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ค่อนข้างยืดหยุ่นในการผลิต ซึ่ง EV ราคาไม่สูงมาก สามารถผลิตคืนในอัตรา 1 : 1 ได้ไม่ยากนัก ต่างจาก EV ราคาเกิน 2 ล้านบาท ที่ต้องผลิตชดเชยให้ตรงกับรุ่นนำเข้าเท่านั้น ถือเป็นเงื่อนไขที่สร้างอุปสรรคมากขึ้น

มากไปกว่านั้น มาตรการสนับสนุนนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้ EV จากจีนที่เตรียมขายในครึ่งปีแรก ต้องสะดุดไปทันที เพราะลูกค้าต้องรอรับสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ อยู่แล้ว ขณะที่ EV ของบริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่น จะมีเวลาหายใจเพิ่มขึ้น เพราะเตรียมการวางแผนทำตลาดในช่วงปลายปีนี้ หรือบางค่ายต้องรอถึงปี 2566

 

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถยนต์จีนรายหนึ่ง เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า มาตรการส่งเสริม EV จะช่วยกระตุ้นตลาดในปีนี้ โดยยอดขาย EV มีโอกาสโตแบบก้าวกระโดดระดับหมื่นคัน เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่รวมทุกยี่ห้อทำได้เกือบ 2,000 คัน

 

“ทว่าการมีผลบังคับใช้เดือนพฤษภาคม จะทำให้ผู้บริโภคชะลอ การซื้อ เพราะต้องการส่วนลดจากรัฐบาล ส่งผลให้ตลาด EV ในครึ่งปีแรก อาจเสียโอกาสทางการขายไป” แหล่งข่าวกล่าว

 

ด้านค่ายรถจีนที่มี EV ทำตลาดและมีแผนเปิดตัวรุ่นใหม่ในปี 2565 อย่าง “เอ็มจี” และ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ต่างออกมารับลูกสนับสนุนนโยบายรัฐบาล แต่ยังไม่ลงรายละเอียดว่า รถพลังงานไฟฟ้าของตนเองจะลดราคาพร้อมขายเมื่อไหร่

ฮันนีมูนแพ็กเกจ EV ภาษีนำเข้า 0% หนุนค่ายรถญี่ปุ่นสู้จีน ก่อนผลิตไทยปี 2568

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในมาตรการสนับสนุนยานยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งการลดภาษีสรรพสามิต ภาษีนำเข้า และการอุดหนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เอ็มจีในฐานะผู้นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมให้การสนับสนุนนโยบายรัฐอย่างเต็มที่ โดยได้เตรียมเข้าหารือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานและให้คนไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากนโยบายดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

 

ด้านเกรท วอลล์ มอเตอร์ ส่งหนังสือชี้แจงว่า บริษัทยังคงต้องศึกษารายละเอียดปลีกย่อยของนโยบาย เงื่อนไขและขั้นตอนการดำเนินงานที่ทางภาครัฐกำหนดอย่างละเอียด รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานทางภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวางแผนการดำเนินงานของเราและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้เร็วที่สุด เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและลูกค้าของเรา ซึ่งเราจะประกาศทิศทางและแนวทางปฏิบัติของบริษัทให้ทราบอีกครั้งภายหลัง

 

ส่วนโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย ประกาศว่า ภายในปี 2565 เตรียมเปิดตัว EV รุ่น Toyota bZ4X ในไทยแน่นอน และมีแผนขึ้นไลน์ประกอบรถพลังงานไฟฟ้าในไทย ตามแผนส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล