สารพัดปัญหาน่าปวดหัวกับเพื่อนบ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง จนทำให้เกิดประเด็นวิวาทกันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการจอดรถขวางหน้าบ้าน ,สัตว์เลี้ยงข้างบ้าน ส่งเสียงดัง หรือทำลายข้าวของ ,ต้นไม้รุกล้ำเขตบ้าน ,เพื่อนบ้านส่งเสียงดัง หรือก่อสร้างจนบดบังสภาพแวดล้อม เป็นต้น
ปรากฏตามโซเชียลคู่กรณีมักถกเถียง หาคนถูกผิดกันเสมอ บางกรณีอาจใช้อารมณ์แก้ปัญหาจนตนเองกลายเป็นผู้ถูกฟ้องร้องเสียเอง ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานกิจการยุติธรรม โพสต์ทางออกปัญหาบ้านใกล้เรือนเคียง ตามแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดย 6 ทางออกของปัญหาน่าปวดหัว กับเพื่อนบ้าน มีดังนี้
1. กรณีข้างบ้านมีสัตว์เลี้ยง
หากส่งเสียงดัง สามารถเรียกสินไหมทดแทนได้ หากทำลายข้าวของ สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานท้องถิ่นใกล้บ้านให้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ แต่ห้ามทำร้ายสัตว์ หรือฆ่าสัตว์ เพราะจะมีความผิด(ตามประมวลกฎหมายอาญา(ป.อาญา) ม.358 และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรม และสวัสดิภาพสัตว์ ม.20)
2. กรณีจอดรถขวางหน้าบ้าน
แนะนำให้ติดป้ายเตือนว่าห้ามจอด หรือแจ้งตำรวจให้ลากรถไปเก็บไว้ที่สถานีได้ (ตามพ.ร.บ.การจราจรทางบก ม.57 ข้อที่10 และประมวลกฎหมายอาญา ม.397 แต่ห้ามทุบ หรือทำลายรถที่จอดขวาง เพราะจะมีความผิดตาม ป.อาญา ม.358 และประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์(ป.พ.พ.) ม.420,421)
3. กรณีต้นไม้รุกล้ำที่ดิน
สามารถเก็บผลที่ตกตามธรรมชาติได้ หรือทำหนังสือแจ้งเจ้าของต้นไม้หากเจ้าของไม่ตัดกิ่ง เจ้าของที่ดินสามารถตัดเองได้ และหากรากทำให้เกิดปัญหาต่อโครงสร้างบ้านสามารถตัดทิ้งได้เลย (ตามป.อาญา ม.358 และ ป.พ.พ. มาตรา 1347 ) แต่ห้ามตัดกิ่งก้านโดยไม่มีการบอกกล่าวก่อน หรือตัดรากโดยไม่มีเหตุผล หรือเก็บ เด็ด สอย ดอกผลจากต้น (ตาม ป.อาญา ม.334,358 และ ป.พ.พ. มาตรา ม.420,421)
4. กรณีข้างบ้านส่งเสียงดัง
แนะนำให้เข้าไปเจรจา แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ สามารถอัดคลิปแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้มาตรวจสอบได้ (ตาม ป.อาญา ม.370,397) แต่ห้ามเข้าไปหาเรื่อง ด่าทอ ทำร้ายร่างกาย (ป.อาญา ม.295)
5. กรณีทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง
แนะนำให้ฟ้องร้องให้รื้อถอน(ตามป.พ.พ. มาตรา 1337,420) แต่ห้ามเข้าไปต่อว่าหาเรื่อง หรือทุบทำลายสิ่งก่อสร้าง (ป.อาญา ม.295,358)
6. กรณีเพื่อนบ้านทำหลังคาใหม่ และทำให้น้ำตกใส่บ้าน
แนะนำให้เจรจาพูดคุย หากไม่เป็นผล มีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน หรือฟ้องร้องให้รื้อถอนได้ (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337,1341) แต่ห้ามทุบทำลายสิ่งก่อสร้าง (ตาม ป.อาญา ม.358)