ย้อนไทม์ไลน์คดีหุ้น STARK หลัง DSI ปิดจ๊อบรวบ “ชนินทร์” ส่งฟ้องศาลอาญา

23 มิ.ย. 2567 | 08:02 น.

ย้อนไทม์ไลน์กรณีทุจริต สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ คดีหุ้น STARK หลังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ติดตามจับกุม “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตผู้บริหาร หนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญของคดีที่หลบหนีออกนอกประเทศ กลับคืนสู่ไทยวันนี้ (23 มิ.ย.) เพื่อส่งฟ้องดำเนินคดี

นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องหาคดีทุจริตตกแต่งบัญชี ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน มูลค่าความเสียหายในภาพรวมระดับ 1.5 หมื่นล้านบาท กลับคืนสู่ประเทศไทย เช้าวันนี้ (23 มิ.ย.) โดยเขาถูกควบคุมตัวที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามคำขอของรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2567 ต่อไปนี้เป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญในคดี

 

ไทม์ไลน์คดีหุ้น STARK สู่การรวบตัว “ชนินทร์” ส่งฟ้อง

วันที่ 6 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวโทษบริษัท STARK กรรมการ อดีตกรรมการ และอดีตผู้บริหารของ STARK ต่อ DSI รวม 10 ราย ทั้งที่เป็นบุคคลและนิติบุคคล กรณีร่วมกันกระทำ หรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารในช่วงปี 2564 ถึง 2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ รายชื่อผู้ถูกกล่าวโทษ มีดังนี้

1. บริษัท STARK 2. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 4. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 5. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 6. นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 7. บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 8. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) 9. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ 10. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

ภายในวันเดียวกัน DSI ออกหมายจับ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” หลังพบการข่าวรายงานหลบหนีออกนอกประเทศ ด้าน ก.ล.ต. ก็มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด และห้ามมิให้ออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวมีกำหนด 15 วัน

DSI เปิดเผยความคืบหน้าคดี โดยพนักงานสอบสวนได้สอบสวนเส้นทางการเงินและอายัดบัญชีในบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส ของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ซึ่งมีวงเงินเหลือเท่ากับ 220 ล้านบาท เป็นการอายัดเพิ่มเติมจากเคยอายัดที่ดิน 2 แปลง และบ้าน 1 หลังแล้ว

ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ต่อ DSI กรณีขายหุ้นของ STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน พร้อมได้ส่งรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมทั้งมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก ปปง. ว่า นายชนินทร์ เย็นสุดใจ โยกย้ายเงินไปอยู่ที่อังกฤษอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท

 DSI ออกหมายจับ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” หลังพบการข่าวรายงานหลบหนีออกนอกประเทศกลางปี 2566

วันที่ 27 ธ.ค. 2566 ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร STARK กับพวกรวม 3 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีขายหุ้น STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน ได้แก่ 1. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 2. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และ 3. นางสาวยสบวร อำมฤต พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวโทษ กรณี STARK ทั้งหมด 10 ราย

วันที่ 24 ม.ค. 2567 ก.ล.ต.ประสานกับ DSI เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการกรณี STARK เพิ่มเติม หลังปรากฏข่าวว่า พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาและนำตัวผู้ต้องหากรณี STARK ในคดีความผิดฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาแล้ว 7 ราย และมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม

วันที่ 8 ก.พ. 2567 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK ดำเนินการฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน

วันที่ 9 ก.พ. 2567 พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ยื่นฟ้องต่อศาลเพิ่มเติมอีก 2 รายคือ น.ส.ยสบวร อำมฤต และ นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐ ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนฯ ข้อหายักยอกทรัพย์ และข้อหาฟอกเงิน

ด้าน STARK ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการลาออกของ นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ที่ระบุวันที่สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 10 ก.ค. 2566

วันที่ 10 ก.พ. 2567 พนักงานสอบสวน DSI ยื่นคำร้องขอหมายจับนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้น ในความผิดฐานเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารบริษัทกระทำโดยทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7

ทั้งนี้ นายวนรัชต์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รับตำแหน่งเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK แทนผู้บริหารที่ลาออกไป วนรัชต์เป็นผู้ออกมายอมรับว่า บริษัทอาจมีการฉ้อโกงทางบัญชีเกิดขึ้น

นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อีกหนึ่งผู้ต้องหาคนสำคัญคดีหุ้น STARK

 

วันที่ 12 ก.พ.2567 นายวนรัชต์ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ต่อมาทางกรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวเข้ารักษาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. หลังตรวจพบว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง 608 ตรวจสอบพบว่าเคยมีประวัติการฉีดสีตรวจหาโรคหัวใจจากโรงพยาบาลเอกชน และประวัติการรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ที่เชื่อได้ว่ามีอาการป่วยจริง จึงรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

วันที่ 23 เม.ย.2567 นายวนรัชต์ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ

ก่อนหน้านี้มีประเด็นการส่งฟ้องไม่ครบ โดยอัยการไม่ได้ส่งฟ้องผู้บริหารบางคน ขณะที่นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต ได้เปิดเผยว่า ทางสำนักงานได้ประสาน DSI เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการ STARK ในคดีความผิดฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมเข้าพบกับสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่ครบถ้วนในฐานะผู้ที่กล่าวหา เพื่อดำเนินคดีโดยสูงที่สุด

วันที่ 21 พ.ค. 2567 กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ บริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กว่า 50 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังทราบว่า นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ต้องหาในคดีหุ้นกู้สตาร์ค ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 ห้องพิเศษ โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.เพื่อรักษาตัวจากอาการป่วย โดยกลุ่มผู้เสียหาย ตั้งข้อสงสัยที่นายวนรัชต์ ได้ใช้สิทธิพิเศษหรือจงใจหลีกเลี่ยงการถูกคุมขังในเรือนจำหรือไม่ เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยอ้างอาการเจ็บป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 3 เดือน

นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK ถูกส่งตัวกลับถึงประเทศไทยวันที่ 23 มิ.ย.2567

วันที่ 22 มิ.ย.2567 ฝ่ายไทยได้รับการประสานจากทางการสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า ได้เข้าควบคุมตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ไว้เรียบร้อยแล้ว ณ นครดูไบ ตามการร้องขอของรัฐบาลไทย

วันที่ 23 มิ.ย. 2567 นายชนินทร์ อดีตประธานกรรมการ STARK ถูกส่งตัวกลับถึงประเทศไทย และนำไปสอบปากคำและฝากขังที่ DSI

วันที่ 24 มิ.ย. 2567 จะมีการคุมตัวนายชนินทร์ ไปส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ ณ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่ออัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก ตามขั้นตอน ทั้งนี้  คาดว่า บ่ายวันเดียวกันนั้น จะรู้ผลว่าผู้ต้องหาจะได้ประกันตัวหรือไม่