ลูกหนี้กยศ. เฮ! 1 ส.ค.นี้ เช็คยอดหนี้ใหม่ เกือบ 3 ล้านคน รับประโยชน์

18 ก.ค. 2567 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 08:35 น.

กยศ.เผยคำนวณยอดหนี้ใหม่เสร็จแล้ว ผู้กู้เช็คยอดได้ผ่านเว็บไซต์ 1 ส.ค.นี้ ชี้เกือบ 3 ล้านคนรับประโยชน์ ยอดหนี้ลด 5.6 หมื่นล้านบาท ยันไม่กระทบสภาพคล่องกองทุน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.ได้ดำเนินการคำนวณยอดหนี้ใหม่ ให้กับผู้กู้ยืมกว่า 3.65 ล้านบัญชี โดยมีผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์หลังจากคำนวณยอดหนี้ใหม่จำนวนกว่า 2.98 ล้านราย ภาระหนี้ลดลง 56,326 ล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมส่วนใหญ่มียอดหนี้ลดลง บางรายสามารถปิดบัญชีได้ และบางรายได้รับเงินคืน โดยผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่คำนวณใหม่ได้ที่หน้าเว็บไซต์ กยศ. ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.67 เป็นต้นไป

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า หลังจากการคำนวณหนี้ใหม่ มีผู้ได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

  •  ผู้กู้ยืมมียอดหนี้ที่ต้องชำระลดลง จำนวน 2.8 ล้านราย
  • ผู้กู้ยืมที่มียอดชำระหนี้ครบถ้วนและสามารถปิดบัญชีได้ จำนวน 177,936 ราย 
  • มีผู้จะได้รับเงินคืน จำนวน 177,917 ราย เป็นเงิน 2,104 ล้านบาท  เริ่มทยอยคืนเงิน ตั้งแต่ 1 ต.ค.67
  • สามารถหยุดหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง จำนวน 18,326 ราย 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังมีลูกหนี้กยศ.ที่ผิดนัดชำระหนี้ 2.1 ล้านราย มูลหนี้ 9.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 39%ของพอร์ต โดยเฉลี่ย ลูกหนี้ 1 คน มูลหนี้ 1.2 แสนบาท ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า ขณะนี้อัตราการผ่อนชำระหนี้ลดลง 8% ซึ่งมองว่าเป็นผลกระทบชั่วคราว หากมีการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ทุกคนแล้ว เชื่อว่าลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ

“ตอนนี้มีลูกหนี้ที่เข้ามาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วเกือบ 9 หมื่นราย ซึ่งหลังจากวันที่ 1 ส.ค.67 ที่เปิดให้ลูกหนี้ตรวจสอบผลการคำนวณหนี้ใหม่ คาดว่าจะมีการเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า การคำนวณหนี้ใหม่ไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุน ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนอยู่ 1 หมื่นล้านบาท มีรายรับจากการชำระหนี้เข้ามาเดือนละ 2,000-3,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ กยศ.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบประมาณมาเพิ่มสภาพคล่องกองทุนในปีงบ 68 วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งก็อยู่ในสัดส่วนที่บริหารจัดการได้ และในปีการศึกษานี้ กยศ.ได้เตรียมวงเงินสำหรับปล่อยกู้ทางการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา 4.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับการคำนวณยอดหนี้ใหม่ข้างต้นเป็นการคำนวณหนี้โดยไม่ใช้ระบบ “กยศ. Connect” ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.66 โดยได้นำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายที่ได้ชำระเงินคืนกองทุนฯ นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณหนี้ใหม่ตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี และคิดเบี้ยปรับในอัตรา 0.5% ต่อปี 

ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนฯจะใช้ยอดหนี้ที่ได้คำนวณใหม่นี้ในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปลดภาระผู้ค้ำประกันให้พ้นจากความรับผิด รวมทั้งได้รับการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระได้อีก 15 ปี และเมื่อระบบ กยศ. Connect ปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้วยอดหนี้ทั้งหมดจะถูกปรับโดยอัตโนมัติและจะแสดงในแอปพลิเคชัน กยศ.Connect ต่อไป