"อ.เจษฎา" ไขข้อสงสัยทำไม "กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม" ปี 67

30 ส.ค. 2567 | 03:14 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 03:45 น.

"อ.เจษฎา" ไขข้อสงสัยทำไม "กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม" ปี 67 หลังพื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก ระบุน้ำในเขื่อน และอ่างยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ชี้ยังไม่น่าจะมีปัญหาวิกฤต

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว (Jessada Denduangboripant) เกี่ยวกับประเด็น "น้ำท่วมหนักในภาคเหนือ แล้วปีนี้ กรุงเทพฯ จะน้ำท่วมหนักด้วยมั้ย?" โดยระบุว่า

ได้รับคำถามนี้มาเยอะเลย ด้วยหลายท่านกังวลกันว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลครั้งใหญ่อีกเหมือนสมัยปี พ.ศ. 2554 หรือเปล่า? หลังจากเห็นข่าวอุทกภัยน้ำท่วมรุนแรงในหลายจังหวัดของภาคเหนือ

ประเมินคร่าวๆ จากเว็บไซต์บริหารจัดการน้ำ อย่างคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ และศูนย์บริหารจัดการน้ำ กฟผ. ก็พบว่าทั้งตามเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังมีปริมาณรองรับน้ำได้อีกมาก ส่วนใหญ่จะเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในเกณฑ์ปานกลาง ยังไม่น่าจะมีปัญหาวิกฤตเหมือนในสมัยก่อน
 

ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในบางภูมิภาคนั้น ยังเป็นแค่พายุฝนที่เกิดขึ้นในฤดูมรสุมในแต่ละปีเท่านั้นเอง ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ ลานีญา (ซึ่งทำนายกันว่าจะเกิดในปีนี้ แต่ก็เลื่อนมาหลายเดือนแล้ว) เลยไปลองหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ และก็เอาบทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ภาณุ ตรัยเวช อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา มาสรุปให้อ่านกัน โดยสรุปอาจารย์ให้ความเห็นว่า "ปัญหาน้ำท่วมในปีนี้อาจไม่หนักเท่าปี 2554" น่าจะทำให้ทุกท่านกังวลน้อยลงบ้าง

"อ.เจษฎา" ไขข้อสงสัยทำไม "กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม" ปี 67

"ไขข้อข้องใจ ทำไมน้ำท่วมปี 67 จะไม่หนักเท่าปี 54 กับ ภาณุ ตรัยเวช"

  • น้ำท่วมภาคเหนือจะทำให้ไทยเจอวิกฤตอุทกภัยแบบปี 2554 หรือไม่? คำตอบคือ "ไม่" เพราะจริงๆ ปีนี้เป็นปีแล้ง เป็นปี "เอลนีโญ" ต้นปีจะเต็มไปด้วยข่าวความแห้งแล้ง ฉะนั้น สถานการณ์ปีนี้ไม่เหมือนกับปี 2554
  • ในปี 2554 ฝนตกก่อนฤดู เป็นปี "ลานีญา" ที่ปริมาณฝนเยอะ ฝนมาเร็ว และฝนหยุดตกช้า
  • ปกติ ภาคเหนือ จังหวัดส่วนใหญ่จะระบายน้ำลงในแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน // แต่จังหวัดเชียงราย การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงเป็นหลัก
     
  • ต้องดูว่าพื้นที่ประสบอุทกภัย การระบายน้ำเป็นอย่างไร ระบายน้ำไม่ทัน น้ำจึงท่วม แม่น้ำโขงเต็มหรือไม่ และเป็นช่วงที่เขื่อน (ที่กั้นแม่น้ำโขง) ปล่อยน้ำมาพอดีหรือไม่ จนไม่ทำให้น้ำระบายได้
  • แม่น้ำปิง เขื่อนภูมิพล ดูตัวเลขล่าสุด ปริมาณน้ำ 40% เท่านั้นเอง ฉะนั้น ถ้าฝนตกลงมา แม่น้ำปิงก็ยังไม่น่าเป็นห่วง

"อ.เจษฎา" ไขข้อสงสัยทำไม "กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม" ปี 67

  • แม่น้ำน่าน เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำอยู่ที่ประมาณ 70-80% คือใกล้เต็มแล้ว (แต่ที่ผมเช็กตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 60-70%)
  • ต้องดูว่า ถ้าฝนตกลงมาอีกในภาคเหนือ จะตกลุ่มน้ำไหน ถ้าตกลุ่มน้ำปิง ก็ไม่เป็นไร เพราะแม่น้ำปิงยังรับน้ำได้อีกเยอะ แต่ถ้าตกในลุ่มแม่น้ำน่าน ก็มีความเสี่ยง
  • แต่ถ้าเทียบกับปี 2554 เขื่อนสิริกิติ์น้ำเต็มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จึงไม่แปลกที่จะประสบอุทกภัยรุนแรง ซึ่งต่างจากตอนนี้ ที่ปลายเดือนสิงหาคมแล้ว น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ก็ยังไม่เต็มแบบปี 2554 เลย
  • ความหนักของฝนในช่วงนี้ คือปลายฤดูฝน ช่วง 3 เดือนสุดท้าย (สิงหาคม-ตุลาคม) เป็นช่วงที่ฝนตกหนักอยู่แล้ว ยังเป็นไปตามธรรมชาติ
  • จังหวัดเชียงราย ที่ประสบปัญหาอุทกภัยตอนนี้ ก็ไม่ได้ท่วมทั้งจังหวัด แต่ท่วมบางอำเภอ
  • ฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่กำลังพูดถึงคือปัญหาท้องถิ่น ซึ่งขึ้นอยู่ในแต่ละพื้นที่จัดการ
  • ปัญหาภาวะโลกร้อน เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมค่อนข้างมาก อย่างในปีนี้ จริงๆ แล้วเป็นปีแล้ง แต่ยังเกิดน้ำท่วมได้
  • ปัญหาน้ำท่วม ไม่อยากมองภาพแค่กรุงเทพฯ หรือแยกเป็นพื้นที่ เพราะมันเกิดได้ทุกที่ และเวลาเกิดขึ้นมา ไม่ว่าเกิดรุนแรงหรือไม่รุนแรง ก็สร้างความสูญเสียขึ้นได้