“วันอาหารโลก”ชวนสร้างสิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน

16 ต.ค. 2567 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 14:14 น.

16 ตุลาคม 2567 “วันอาหารโลก” ชวนสร้างสิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน โจทย์ใหญ่เพื่อลดความอดอยากทั่วโลก

“สิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อการเข้าถึงอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน “Right to foods for a better life and a better future. Leave no one behind”  คือ หัวข้อการขับเคลื่อนงานในปี 2567 เนื่องในวันอาหารโลก World Food Day” ซึ่งกำหนดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) หรือ FAO เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญอาหาร การเกษตรทั่วโลก รวมถึงปัญหาความอดอยากหิวโหย อันเกิดจากการจัดการและการกระจายอาหาร ที่ไม่สามารถทำให้ประชากรโลกทุกคนสามารถเข้าถึงได้

                          “วันอาหารโลก”ชวนสร้างสิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน

นายนวรัตน์ เฉลิมเผ่า ผู้ช่วยผู้แทน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO ประเทศไทย กล่าวว่า FAO มีวิสัยทัศน์ว่าอยากให้โลกมีความมั่นคงทางอาหาร ไม่อยากให้ใครอดอยากหิวโหย มีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ด้วยสุขภาพที่ดี แต่ในรายงาน ปี 2024 กลับพบว่าทั่วโลกมีประชากรที่อดอยากหิวโหย 733 ล้านคน และไม่สามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ 2,800 ล้านคน หรือ 40% ของประชากรโลก

ในส่วนประเทศไทย พบมีภาวะขาดแคลนอาหารอยู่ถึง 4 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบด้วยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร 1 ใน 10 อันดับต้นๆ ของโลก มีความหลากหลายชีวภาพสูง แต่เนื่องจากอาหารมีมาก ก็ส่งออกมากด้วย อีกทั้งยังปรากฏความเหลื่อมล้ำของผู้เข้าถึงอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ดีถูกหลักโภชนาการ หากไทยกำหนดทิศทางนโยบายที่ถูกต้อง ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

FAO ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ปรับตัวได้ตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รณรงค์การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยมี 5 แนวทาง คือ เรื่องของ 1.ความปลอยภัยทางอาหาร

2.รณรงค์การลดการสูญเสียอาหารโดยไม่จำเป็นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งพบว่า อาหารจำนวนมากที่รับประทานจะต้อง สูญเสียระหว่างทางไปมากถึง 30% ซึ่งในจำนวนนี้สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งโลกเลยทีเดียว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพบว่าโลกไม่ได้ผลิตอาหารน้อย แต่เพราะบริหารจัดการไม่เป็น จึงต้องสูญเสียอาหารไปอย่างน่าเสียดาย 

3.จะผลิตอาหารอย่างไรให้รักษาสิ่งแวดล้อมไปได้ 4.กระจายรายได้ในภาคเกษตรอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม และ 5.การจัดการอาหารเพื่อรับมือภาวะวิกฤติภัยพิบัติ

                       “วันอาหารโลก”ชวนสร้างสิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน

ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ได้ดำเนินงานสอดคล้องกับเป้าหมายของ FAO ในปี 2024 ที่เน้นย้ำสิทธิในการเข้าถึงอาหารและอนาคตที่ดี 

สิ่งที่ภาคีและ สสส. เน้นมาตลอดคือ ผลิตอาหารที่เพียงพอ เป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการผลิตเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ ตลอดจนส่งเสริมการจัดการระบบตลาดให้ถึงมือผู้บริโภค เป็นการทำงานทั้งห่วงโซ่อาหาร ทำให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอาหารที่ควรจะได้ แต่ที่กำลังเริ่มดำเนินงานกับกลุ่มเปราะบางมากขึ้นคือ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร

“สสส. ดำเนินงานกับ 30 ภาคีเครือข่าย ให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ดี ที่ปลอดภัย และถูกหลักโภชนาการ ทุกภาคีจะมีแผนเพื่อสร้างการรู้เท่าทันทางอาหาร หรือ Food Literacy ในทุกมิติของการดำเนินงานด้านอาหารสุขภาวะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารเพื่อให้ความรู้กับประชาชนทั้งในรูปแบบงานข่าว งานสื่อสารกิจกรรม และงานรณรงค์ อันจะส่งผลเกิดการบริโภคที่ดีได้” ทพญ.จันทนา กล่าว

                             “วันอาหารโลก”ชวนสร้างสิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน

กุลวรางค์ สุวรรณศรี นักวิจัยนโยบาย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวิภาพแห่งชาติ (Biotec) เปิดเผยถึงเรื่องความท้าทายการทำงานด้านความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทย ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างประชากรที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสูง ทำให้ระบบอาหารเปลี่ยนไป นับเป็นความท้าทายการทำงานด้านความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน จะต้องให้หน่วยงานราชการมีนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มองรอบด้าน  

ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และอยู่บนฐานความยั่งยืน ภายใต้การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสร้างความสามารถ และความตระหนักรู้ของผู้เกี่ยวข้องในระบบอาหารตลอดสายโซ่อุปทานโดยเฉพาะผู้บริโภค

                            “วันอาหารโลก”ชวนสร้างสิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน

“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางอาหาร เกิดภาวะอาหารไม่เพียงพอ ความไม่สามารถเข้าถึงอาหารในชุมชน ซึ่งหมายรวมทั้งอาหารที่ปลอดภัย และอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการ เราเห็นได้ชัดว่าเมื่อเกิดน้ำท่วม ผักและผลไม้จะราคาแพงขึ้นไม่น้อยกว่า 20% อาหารที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีการบูดเน่าเสีย ดังนั้นจะต้องมีนวัตกรรมทางอาหารที่รองรับภัยพิบัติได้” นักวิจัยนโยบาย BioTec  กล่าว

ในส่วนของรูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นนั้น นายสมิทธิ โชติศรีลือชา กรรมการและประธานวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อการเข้าถึงอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นเป็นของคนทุกคน เป็นสิทธิในการดำรงชีวิต และเลือกใช้ชีวิต เลือกอาหารบริโภค ซึ่งการบริโภคอาหารเป็นเครื่องมือกำหนดอนาคตได้ ด้วยการตอบโจทย์สุขภาพจากอาหารที่กิน 

หลักบริโภคอาหารง่ายๆ คือ กินอาหารสมดุล คือ อาหารที่กินแล้วไม่เป็นโรค กินแล้วสุขภาพดี ปลอดภัย กินได้ในระยะยาว และไม่เกิดโรคในอนาคต 

“อาหารเป็นสิ่งยึดโยงเราเข้ากับสิ่งแวดล้อม อาหารที่จะมาถึงมือเราผ่านกระบวนการต่างๆ  ทั้งมิตินิเวศวิทยา มิติสังคม เชิงวัฒนธรรม ทำให้เรามีความหลากหลายมากขึ้น แต่สิทธิ์ในอาหารนั้นสร้างความปลอดภัยให้เรา หรือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารนั้นปลอดภัย” 

                        “วันอาหารโลก”ชวนสร้างสิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน

ขณะที่ ดร.นุติ หุตสิงห ผู้ก่อตั้งเพจ TUCK the Chef เชฟนักวิทย์นำความรู้สู่ความอร่อยที่ดีต่อสุขภาพ กล่าวว่า  เรามีสิทธิเข้าถึงอาหาร ก็ควรมีสิทธิบริโภคอาหารที่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน ไม่ใช่มีแต่อาหารทีปนเปื้อนสารเคมี ไม่ปลอดภัย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้องเราด้วย แอกอาหาร เราก็ควรมีสิทธิ์บริโภคอาหารที่ปลอดภัยด้วย

การทำให้อาหารมีความปลอดภัย จะต้องเข้าใจโครงสร้างอาหาร การปรุงอาหารบางอย่างไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปรุงอะไรเลย เพียงแต่ต้องเข้าใจโครงสร้างอาหารเพื่อดึงสาร หรือรสชาติธรรมชาติออกมาให้กลมกล่อม 

“ประเทศไทยเด่นเรื่องการกินอาหารเป็นยา ในชุดสำรับกับข้าวของเราตอบโจทย์ได้หมด เช่น น้ำพริกกะปิผักต้ม เราใช้น้ำพริกกะปิก็เผื่อลดความขม ฝาด เฝื่อนของผัก  หรือแกงส้มของภาคใต้ใส่ขมิ้นกับพริกไทดำ เพื่อให้เพิ่มการดูดซึมสารอาหาร ดังนั้นสำรับอาหารของไทยมีความหลากหลายเกิดความสมดุลในแต่ละเมนูอยู่แล้ว”