“คดีเสียบบัตรแทนกัน” ในส่วนที่ 3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง และ นางนาที รัชกิจประการ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ ตกเป็นจำเลยที่ 1-3 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกานักการเมือง) ได้นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ และนัดพิจารณาครั้งแรกในวันพฤหัสที่ 19 พ.ค. 2565 นี้ เวลา 9.30 น.
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2565 “อัยการสูงสุด” ได้ยื่นฟ้อง ทั้ง 3 คน ต่อศาลฎีกานักการเมือง ในข้อหาเสียบบัตรแทนกัน
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10-11 ม.ค.2563 และถูกกล่าวหาว่า เป็นการปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและประชาชน หรือปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับรามการทุจริต 2561 มาตรา 4 และ 172
โดยศาลฎีกานักการเมืองได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 บัญญัติไว้ว่า “เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ดาบ2คดีจริยธรรมร้ายแรง
นอกจาก นายฉลอง นายภูมิศิษฏ์ และ นางนาที 3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จะถูกดำเนินคดีอาญากรณี “เสียบบัตรแทนกัน”แล้ว ยังถูกฟ้องในความผิดฐานฝ่าฝืน “จริยธรรมร้ายแรง" ด้วย
ย้อนไป เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 “ศาลฎีกา” ได้มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 3/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ และ นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย เรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (ชั้นรับคำร้อง) ในคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรง จากการเสียบบัตรแทนกัน
คดีนี้ ป.ป.ช.ร้องขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษา หรือ คำสั่งว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้อง จนกว่าจะมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6-8,11,17 และ 27
โดยศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหา พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานชัดเจน เพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ และผู้ร้องดำเนินการตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 ครบถ้วนแล้ว
ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้รับคำร้องของผู้ร้อง เละสั่งจำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำพิพากษา
เลื่อนคดีฝ่าฝืนจริยธรรม
ความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีฝ่าฝืนจริยธรรมฯ นั้น เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2565 ทางจำเลยทั้ง 3 คือ นายฉลอง นายภูมิศิษฏ์ และ นางนาที ได้ยื่นคัดค้านต่อ “ศาลฎีกา” เพื่อขอให้งดการพิจารณาคดีนี้ไปก่อน เพื่อฟังผลคดีเสียบบัตรแทนกัน จาก “ศาลฎีกานักการเมือง” ซึ่งศาลอนุญาต และได้นัดเพื่อรอฟังผลของคดีดังกล่าว ในวันที่ 21 ธ.ค.2565 เวลา 14.00 น.
โดย ศาลฎกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ และคดีอาญาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน และพยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน ซึ่งอาจนำสืบถึงข้อเท็จจริงเดียวกัน เพื่อให้ความยุติธรรมดำเนินไปได้ด้วยดี จึงเห็นสมควรให้เลื่อนการนั่งพิจารณาคดีนี้ไป จนกว่าจะได้มีการพิพากษาหรือชี้ขาดข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าว
และให้ถือเอาบันทึกถ้อยคำ สำนวนคำเบิกความ เอกสารที่เกี่ยวข้องในคดีอาญามาเป็นถ้อยคำพยานของผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้ง 3 เอกสารในคดีนี้หากคู่ความประสงค์จะไต่สวนพยานปาก หรือ เพิ่มเติมในข้อเท็จจริงที่ไม่ซ้ำกับคดีอาญาหรือพยานปากอื่น ก็ให้นำพยานเข้าไต่สวนได้ ในชั้นนี้ยังไม่สมควรให้จำหน่ายคดีชั่วคราว
ชะตากรรม 4 ส.ส.ภูมิใจไทย อยู่ในมือ “ศาลฎีกา” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ส่วนใครจะ “ร่วง” หรือ “รอด” คงได้ทยอนเห็นผลกัน
ศาลรธน.นัดวินิจฉัย
คดี"สำลี รักสุทธี" 1 มิ.ย.นี้
ศาลรัฐธรมนูญนัดชี้ชะตา "สำลี รักสุทธี" ส.ส.ภูมิใจไทย สิ้นสมาชิกภาพส.ส.หรือไม่ 1 มิ.ย.นี้
คดีของส.ส.ภูมิใจไทยอีกคน คือ นายสำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย ในคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพส.ส.ของ นายสำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(10) หรือไม่
จากเหตุเคยต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดมหาสารคามในคดีหมายเลขดำที่ อ. 4064/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 134/2562 อันถึงที่สุดว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้นายสำลี ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมทั้งมีคำสั่งให้ นายสำลี หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.นับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.2564
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันพุธที่ 1 มิ.ย.2565 เวลา 15:00 น
สำหรับคดีดังกล่าว เป็นกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ ส.ส. ของ นายสำลี จากกรณีต้องโทษคดีทะเลาะกับสถานบันเทิงที่อยู่ข้างบ้าน และศาลสั่งจำคุก แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา และให้บำเพ็ญประโยชน์
เดิม นายสำลี เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และได้ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ภายหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ