เปิดหลักเกณฑ์ ส่งตัว “ผู้ร้ายข้ามแดน” ระหว่างไทย-สหรัฐฯ

02 ก.ย. 2565 | 06:27 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 16:01 น.

เปิดหลักเกณฑ์ ส่งตัว “ผู้ร้ายข้ามแดน” ระหว่างไทย-สหรัฐฯ หลังกรณีไทยส่งตัว "ผู้ร้ายข้ามเเดน" คดีทุจริตจ่ายเงิน ส.ว.ให้สหรัฐอเมริกา

กรณีสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งมอบตัว "ผู้ร้ายข้ามแดน" รายสำคัญ ในคดีทุจริตจ่ายเงิน ส.ว.ให้ทางการสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 1 ก.ย.65 ที่ผ่านมา โดยผู้ต้องหาทั้งสองได้หลบหนีมากบกานที่ประเทศไทย โดยถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานร่วมกันทุจริตให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ และร่วมกันฟอกเงิน ตามกฎหมายอาญาของสหรัฐอเมริกา พฤติการณ์คือ  มีการจ่ายสินบนให้สมาชิกวุฒิสภาของประเทศหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน

ถือว่าเป็นคดีแรกของสหรัฐอเมริกาและไทย ที่มีการพิจารณาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในข้อหาทุจริตให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในดินแดนต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003(United Nations Convention against Corruption 2003 (UNCAC)) ที่ทั้งไทยและสหรัฐอเมริกาต่างก็เป็นรัฐภาคี

อนุสัญญาฯ นี้ ถือว่าเป็นอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตระหว่างประเทศฉบับแรกที่ครอบคลุมประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีสาระสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดน การช่วยเหลือทางกฎหมาย และการสืบสวนสอบสวนร่วมกัน

 

อย่างไรก็ตาม หลายคดีเกี่ยวกับข่าวการหนีออกนอกประเทศของบุคคลสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ต้องหาในคดีต่างๆ อาจทำให้หลายคนสงสัย “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน” โดยเฉพาะระหว่างประเทศไทยและสหรัฐฯ เพราะคดีที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดนคดีที่อยู่ในความสนใจของสหรัฐอเมริกา

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ขอพาไปดูดังนั้นขั้นตอนการส่ง "ผู้ร้ายข้ามแดน" จึงเป็นเรื่องที่ต้องรู้ไว้ โดยเฉพาะระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา

 

“ผู้ร้ายข้ามแดน” คือใคร

  • คนที่มีความผิดอาญาในประเทศหนึ่งประเทศใด
  • หลบหนีออกจากประเทศนั้น ทำให้กฎหมายของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถเอาผิดได้
  • เพื่อให้คนที่ทำผิดอาญาถูกดำเนินคดีและลงโทษจึงเกิด “หลักการของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน” เป็นไปตาม “สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน” หรือ extradition treaty

 

ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการประสานส่งตัวคนร้ายข้ามแดน

  •  "อัยการสูงสุด" หรือผู้ที่อัยการสูงสุดมอบหมายซึ่งมีอำนาจหน้าที่ประสานงานการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ประเทศผู้ร้องขอและการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนแก่ประเทศไทย รวมทั้งกรณีอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระยะเวลาดำเนินการอาจมีระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป

 

ข้อยกเว้นของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

  • กฎหมายใด หากประเทศนั้นไม่ถือว่าเป็นความผิด ไม่ต้องส่งตัวกลับดำเนินก็ได้

 

สำหรับหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายไทยตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในปัจจุบัน โดยหลักการทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

 

ต้องเป็นความผิดอาญาของทั้ง 2 ประเทศ  

  • มีโทษประหารชีวิตหรือมีโทษจำคุกหรือโทษจำกัดเสรีภาพในรูปแบบอื่นตั้งแต่ 1  ปีขึ้นไป

 

ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น

  • เป็นความผิดที่ ระบุไว้สนธิสัญญา และไม่ใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดทางการเมืองในกรณีนี้ไม่รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการปลงพระชนม์ ประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล หรือสมาชิกโดยตรงในครอบครัวของบุคคลนั้น ในกรณีที่มิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันประเทศผู้ร้องขอต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศไทยในทำนองเดียวกันเมื่อประเทศไทยร้องขอซึ่งเป็นไปตามหลักต่างตอบแทน

 

ต้องไม่เป็นการพิจารณาคดีซ้ำ

  • บุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนนั้นจะต้องไม่เคยได้รับการพิจารณาคดีจากศาลไทยหรือศาลของประเทศผู้ร้องขอในการกระทำอย่างเดียวกันกับที่มีการร้องขอให้ส่งข้ามแดนและศาลไทยหรือศาลของประเทศผู้ร้องขอได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ปล่อยตัวหรือพิพากษาให้ลงโทษและผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว หรือได้รับการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมหรือคดีขาดอายุความหรือมีเหตุอื่นใดซึ่งไม่สามารถดำเนินคดีแก่บุคคลนั้น

 

นอกจากพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายภายในแล้ว ประเทศไทยยังมี สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในระดับทวิภาคี (ExtraditionTreaty) กับประเทศต่างๆ โดยมีทั้งกรณีที่เป็นสนธิสัญญา ส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ประเทศนั้น ๆ มีความตกลงกับประเทศไทย และสนธิสัญญา ส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ประเทศนั้น ๆ มีการสืบสิทธิจากประเทศสหราชอาณาจักรรวม 14 ประเทศ

 

ได้แก่ ประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศเบลเยียม ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิจิ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้ประเทศลาว ประเทศบังกลาเทศ และประเทศกัมพูชา

 

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (Treaty on MutualAssistance in Criminal Matters) กับประเทศต่าง ๆ รวม 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศฝรั่งเศส ประเทศนอร์เวย์ และประเทศอินเดีย

 

เมื่อมาตรวจสอบ พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2533  ระบุสอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551   ในประเด็นความผิดที่จะไม่มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ได้แก่ ความผิดทางการเมืองและทางทหาร  ความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความผิดทางทหารโดยเฉพาะ  การปลงชีวิตหรือการกระทำความผิดโดย เจตนาต่อชีวิตหรือต่อร่างกายของประมุขแห่งรัฐของภาคีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งหรือของสมาชิกใน ครอบครัวของบุคคลนั้น รวมทั้งการพยายามกระทำความผิดดังกล่าวไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด

 

เเต่มีเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวกับ รัฐที่ได้รับการร้องขออาจปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ถูกขอให้ส่งตัวสำหรับความผิดที่ถือว่าได้กระทำทั้งหมดหรือบางส่วนในประเทศของตน หรือในสถานที่ที่ถือเหมือนเป็นประเทศของตน โดยรัฐที่ได้รับการร้องขอจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคลสำหรับความผิดนั้นตามกฎหมายของตน

 

  • จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถ้าบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวได้รับการพิจารณาคดีและ ถูกพิพากษาลงโทษ หรือปล่อยตัวในรัฐที่ได้รับการร้องขอ สำหรับความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

 

  • การส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจจะถูกปฏิเสธ ถ้าบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวกำลังถูกดำเนินคดีแล้วในรัฐที่ได้รับการร้องขอสำหรับความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

 

  • อาจจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐที่ได้รับการร้องขอ ได้ตัดสินที่จะไม่ฟ้องคดีต่อบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวสำหรับการกระทำที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

 

  • ถ้าความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนถูกลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายของรัฐที่ร้องขอได้ และไม่อาจถูกลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายของรัฐที่ได้รับการร้องขอ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐที่ได้รับการร้องขอ อาจปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ เว้นแต่ว่าเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายของรัฐที่ได้รั การร้องขอ หรือเจ้าหน้ารัฐที่ร้องขอให้หลักประกันว่าจะเสนอแนะต่อผู้มีอำนาจอภัยโทษของรัฐที่ร้องขอ เพื่อขอให้เปลี่ยนโทษประหารเป็นโทษที่เบากว่านั้น หากมีการลงโทษประหารชีวิต ซึ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ได้แก่ ฝ่ายบริหาร

 

  • จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อการฟ้องคดีหรือการบังคับการลงโทษสำหรับ ความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นต้องห้ามโดยขาดอายุความตามกฎหมายของรัฐที่ร้องขอ

 

การวินิจฉัยและการส่งมอบตัวผู้ร้ายข้ามแดน

  • รัฐที่ได้รับการร้องขอจะแจ้งผ่านวิถีทางการทูตให้รัฐที่ร้องขอทราบถึง การวินิจฉัยของตนเกี่ยวกับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
  • รัฐที่ได้รับการร้องขอต้องให้เหตุผลในการปฏิเสธคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน บางส่วนหรือทั้งหมด
  • หากให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ การส่งมอบตัวบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวจะมีขึ้น ภายในระยะเวลาที่อาจกำหนดไว้ในกฎหมายของรัฐที่ได้รับการร้องขอ
  • เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของภาคี คู่สัญญาจะตกลงกันเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ของการส่งมอบตัว
  • หากไม่มีการนำผู้ร้ายนั้นออกไปจากประเทศของรัฐที่ได้รับการร้องขอภายในเวลาที่กำหนดไว้ บุคคลนั้นอาจจะถูกปล่อยตัว
  • รัฐที่ได้รับการร้องขออาจจะปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนสำหรับความผิดเดียวกันนั้นได้ในภายหลัง