น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงพระราชทานชื่อ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

01 ต.ค. 2565 | 04:58 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2565 | 12:53 น.

รัฐบาลน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

วันที่1 ต.ค.2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า รัฐบาลน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี” โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา” และสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

 

โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งกระทรวงคมนาคม ว่า ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  ในหลวงพระราชทานชื่อ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

ล่าสุดได้มีหนังสือแจ้งจากสำนักพระราชวังถึงกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้
 

1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า นครวิถี อ่านว่า นะ-คอน-วิ-ถี (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง

 

2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า ธานีรัถยา ทา-นี-รัด-ถะ-ยา (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง

 

3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อ่านว่า สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร
 

นายอนุชา กล่าวว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์หรือสถานีกลางบางซื่อเดิม จะเป็นศูนย์กลางระบบราง Landmark แห่งใหม่ของประเทศ ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นจุดเชื่อมต่อทุกระบบราง โดยรัฐบาลได้เร่งรัดการพัฒนาระบบคมนาคมทางราง ให้การคมนาคมขนส่งทางราง เป็นการเดินทางและขนส่งที่ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยที่สุด