ศาลสั่งจำคุก 33 ปี 4 เดือน “6 บิ๊กตำรวจ” คดีสร้างแฟลตตำรวจ 3.7 พันล้าน

30 มี.ค. 2566 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 09:21 น.

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก ตลอดชีวิต 6 นายตำรวจ คดีก่อสร้างแฟลตตำรวจ 163 แห่ง มูลค่า 3.7 พันล้านบาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษจำคุกเหลือ 33 ปี 4 เดือน ส่วนบริษัทเอกชนถูกปรับแค่ 2.6 แสนบาท

วันนี้(30 มี.ค.66) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีก่อสร้างบ้านพักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลตตำรวจ) คดีหมายเลขดำที่ อท 96, 131/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อท 75, 76/2566 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ คณะกรรมการประกวดราคาจัดสร้างโครงการ กับพวก ประกอบด้วย พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พล.ต.ต.สมาน สุดใจ, พ.ต.อ.ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ, พ.ต.อ.จิรวุฒิ จันทร์เพ็ง, พ.ต.ต.สิทธิไพบูลย์ คำนิล, พ.ต.ท.คมคริบ นุดาลัย, ด.ต.สายัณ อบเชย, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 -9 คน

คดีนี้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณา นับสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และสืบพยานโจทก์ จำเลย 29 นัด รวมระยะเวลาตั้งแต่วันฟ้องถึงวันอ่านคำพิพากษา เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน 17 วัน 

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1-6 เป็นเจ้าพนักงานได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจงานจ้างโครงการดังกล่าว จำนวน 163 หลัง วงเงิน 3,709,880,000 บาท ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเจตนาแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท พีซีซีฯ จำเลยที่ 9  

ขณะที่จำเลยที่ 7 เป็นกรรมการตรวจงานจ้าง ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ดังกล่าวเรียกรับเงินจาก บริษัท พีซีซีฯ จำนวน 60,000 บาท เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง ทั้งการเบิกจ่าย และดำเนินการต่าง ๆ ขณะที่บริษัท พีซีซีฯ ยินยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 7 เพื่อแลกกับการตอบแทนช่วยเหลือในการตรวจงานจ้าง 

ส่วนจำเลยที่ 8 ในฐานะผู้ควบคุมงานอาศัยโอกาสที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเรียกรับทรัพย์สินจากบริษัท พีซีซีฯ จำนวน 91,618,000 บาท เพื่อช่วยเหลือบริษัท พีซีซีฯ ในการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยบริษัท พีซีซีฯ ยินยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 8 เพื่อแลกกับการตอบแทนดังกล่าว 

จึงขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสอนราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วฯ) มาตรา 10, 12 
ส่วนจำเลยที่ 7-8 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 และจำเลยที่ 9 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157, 86 และ พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตารา 86 

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางไต่สวนประกอบสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. และพยานหลักฐานของจำเลยทั้ง 9 รายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-6 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอ บเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157

และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ กระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ บริษัท พีซีซีฯ จำเลยที่ 9 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคา รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏชัดแจ้งว่าควรรู้ว่า การเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำผิด ละเว้นเว้นไม่ดำเนินการยกเลิกเสนอราคา ตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 10, 12 โดยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เป็นบทเฉพาะ ย่อมไม่ต้องปรับบทความผิดตาม มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก 

ส่วนจำเลยที่ 7-8 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 โดยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เป็นบทเฉพาะ ย่อมไม่ต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 

โดยทรัพย์สินหรือประโยน์อันอาจคำนวณราคาเป็นเงินได้ กรณีจำเลยที่ 7 จำนวน 60,000 บาท และกรณีจำเลยที่ 8 จำนวน 91,618,000 บาท ที่ได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ให้ริบตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 32

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำนวนดังกล่าวถูกนำไปรวมกับทรัพย์สินอื่น หรือมีการจำหน่ายจ่ายโอนเป็นทรัพย์สินอื่น โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร จึงให้จำเลยที่ 7-8 ส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชำระเป็นเงินจำนวนดังกล่าวแทนมูลค่าภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันพิพากษา  

ขณะที่จำเลยที่ 9 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1-6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-6 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) และ พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 10, 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยการกระทำของจำเลยที่ 1-6 เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1-6 จำคุกคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 3.9 แสนบาท

จำเลยที่ 7-8 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) จำคุกจำเลยที่ 7 จำนวน 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 8 จำนวน 19 ปี
จำเลยที่ 9 ผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ปรับ 2.6 แสนบาท 

ทั้งนี้ทางนำสืบของจำเลยที่ 1-8 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ โดยลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 โดยจำเลยที่ 1-6 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 2.6 แสนบาท 
จำเลยที่ 7 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน 

จำเลยที่ 8 คงจำคุก 12 ปี 8 เดือน นับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ อท 285/2561 ของศาลนี้ และไม่นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.23/2564 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.21/2565 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากศาลพิพากษายกฟ้อง (คดีก่อสร้างโรงพักทดแทนที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลย)   

ให้ริบทรัพย์ของจำเลยที่ 8 เป็นเงิน 91,618,000 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้จำเลยที่ 7-8 ส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบเป็นเงินแทนมูลค่าดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา 

หากจำเลยที่ 1-6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปีได้

จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มารา 29, 29/1

ยกฟ้องจำเลยที่ 9 สำหรับฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 7-8