คณะผู้แทนของไทยนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง จะเดินทางไปเยือน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในคืนวันที่ 18 ก.ย. และจะเดินทางกลับถึงไทยในวันที่ 24 ก.ย.2566 โดย ภารกิจของนายกรัฐมนตรีแบ่งออกเป็นเรื่องที่สำคัญๆ ในด้านต่างๆ ดังนี้
ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ
ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) นั้น นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) และจากนั้นจะร่วมการประชุม SDG Summit (Sustainable Development Goals Summit) ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำเพื่อที่จะช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งความคืบหน้าในขณะนี้นับว่ามาครึ่งทางแล้วของการจะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ.2030 ซึ่งก็เหลืออีกเพียง 7 ปีเท่านั้น ผู้นำต่างๆ จึงจะมาพบกันเพื่อที่จะกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญ
ไทยเองได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสมอมา และได้บูรณาการเอาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 12 แล้ว มีกลไกการขับเคลื่อน SDG ในระดับชาติผ่านคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.) รวมทั้งมีการมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย มีการถ่ายทอดนโยบายลงสู่ระดับจังหวัด รวมทั้งระดับท้องถิ่นด้วย
นอกจากนี้ นายกฯจะเข้าร่วมการประชุม Climate Action Summit ซึ่งเป็นที่จับตามองในเรื่องที่ประเทศต่างๆจะช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศของโลก
การหารือทวิภาคี
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ยังมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และมาเลเซีย และยังจะได้หารือทวิภาคีกับนายอันโตนิอู กูแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติด้วย
ส่วนโอกาสการพบปะกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้น คาดว่าจะได้พบปะกันในงานเลี้ยงรับรองผู้นำ และคงมีโอกาสพูดคุยกัน ส่วนการหารือทวิภาคีร่วมกัน จะต้องพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากผู้นำทุกประเทศ ต้องการหารือกับผู้นำสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
ภารกิจด้านเศรษฐกิจ
การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ คณะของนายกรัฐมนตรี ยังมีกำหนดการพบปะหารือกับหอการค้าสหรัฐ (U.S. Chamber of Commerce) หอการค้าสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council หรือ USABC) และบริษัทเอกชนที่เป็นผู้นำทางธุรกิจของสหรัฐ ซึ่งจะมีบริษัทอะไรบ้างนั้น ยังคงอยู่ในช่วงระหว่างการติดต่อกันอยู่ ในขั้นต้นที่ได้รับการยืนยันแล้วนั้น ได้แก่บริษัทโบอิ้ง และเชฟรอน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังจะมีการพบปะกับผู้แทนชุมชนคนไทย รวมทั้งภาคธุรกิจไทยในสหรัฐ ตลอดจนทีมประเทศไทยในสหรัฐอเมริกาด้วย
ส่วนนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น จะเข้าร่วมกับภารกิจของนายกรัฐมนตรีในทุกภารกิจ รวมทั้งการประชุมเตรียมการระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุม Summit of the Future นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะใช้โอกาสนี้ ในการหาเสียงในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council หรือ HRC) วาระปี 2025-2027 ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีหน้า (2024)
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกคณะมนตรี HRC มีตำแหน่งว่างอยู่ 5 ตำแหน่ง แต่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 6 ประเทศด้วยกัน รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งไทยเองนั้น มีความมุ่งมั่นในการที่จะมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศในเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนาสุขภาพ หลักประกันสุขภาพสากลถ้วนหน้า โดยประเทศไทย ต้องการที่จะไปทำหน้าที่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ขณะเดียวกันจะได้นำมาตรฐานสากลต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้ในประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ยังจะพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งนายเดนนิส ฟรานซิส ชาวตรินิแดดและโตเบโก ซึ่งเป็นประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 78 นี้ด้วย และจะเข้าร่วมการประชุมในกรอบสาธารณสุขในด้านโรคติดต่อต่าง ๆ และการประชุมระดับสูงในด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า