ดีเอสไอยันรับโอนคดีผู้บริหาร GGC ทุจริตซื้อน้ำมันปาล์มดิบเป็นไปตามก.ม.

12 ธ.ค. 2566 | 07:17 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2566 | 07:31 น.

“ดีเอสไอ”ออกโรงยืนยันกระบวนการรับโอนคดีผู้บริหาร GGC ทุจริตสั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จาก บก.ปอศ. มาดำเนินการต่อเป็นไปตามกฎหมาย

วันนี้(12 ธ.ค. 66) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(อีเอสไอ) ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ตามที่ปรากฏข่าวในโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 กล่าวหาว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ “แย่งคดี ปอศ. ช่วยแก๊งสวาปาล์ม” กรณีรับโอนคดีกล่าวหาผู้บริหารของ บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จํากัด (มหาชน) (GGC) กระทําความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จากกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สํานักงานตํารวจแห่งชาติ มาดําเนินการเสียเองทั้งที่คดีใกล้จะเสร็จ จนมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหา และเตรียมสรุปสํานวนการสอบสวนแล้วนั้น 

กรมสอบสวนคดีพิเศษขอขอบคุณที่สื่อมวลชนให้ความสําคัญต่อการปฏิบัติงาน และเป็นโอกาสที่จะได้อธิบายกระบวนการทางกฎหมาย ในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวน คดีพิเศษ พ.ศ.2547 ให้สาธารณชนทราบ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นลําดับ ดังนี้ 



1. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 บริษัทโกลบอลกรีน เคมิคอล จํากัด (มหาชน) (GGC) ได้เข้าร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจสํานักงาน ตํารวจแห่งชาติ กล่าวหาให้ดําเนินคดีอาญากับผู้บริหารของบริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จํากัด (มหาชน) (GGC) ฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา

กรณีตรวจพบหลักฐานว่าระหว่างปี พ.ศ.2557 – พ.ศ.2561 ได้กระทําการทุจริตสั่งซื้อน้ํามันปาล์มดิบแล้วออกใบรับสินค้าโดยยังไม่ได้รับสินค้าทําให้บริษัท โกลบอลกรีนฯจ่ายเงิน ค่าสินค้าให้กับบริษัทคู่ค้ามีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 2,078,760,000 บาท โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้รับคดีอาญาดังกล่าวไว้ทําการสอบสวน

2. ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ให้ดําเนินคดีอาญากับผู้บริหารของบริษัทโกลบอลกรีน เคมิคอล จํากัด (มหาชน) (GGC) และ ผู้เกี่ยวข้อง

เนื่องจากตรวจสอบพบพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่า กรรมการผู้มีอํานาจหรือ ผู้บริหารของบริษัทโกลบอลกรีนฯ ในขณะเกิดเหตุ กระทําการเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันมีข้อเท็จจริงแห่งคดีเดียวกัน จึงรวมการสอบสวนเป็นสํานวนการสอบสวนเดียว

3. กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งเรื่องตามข้อ 1 และ ข้อ 2 มาเพื่อพิจารณาตามอํานาจหน้าที่ เนื่องจากได้มีประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กําหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทําความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ข้อ 4 

ประกอบบัญชีท้ายประกาศฯ ข้อ 11 กําหนดให้คดีความผิดที่มีโทษตามมาตรา 281/2 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (กรรมการหรือผู้บริหารบริษัท ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความสุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย) กรณีที่มี มูลค่าความเสียหายตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป ที่มีความซับซ้อนหรือมีผลกระทบต่อประเทศในมิติต่างๆ ตามที่กําหนดในมาตรา 21 ของกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นอํานาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะมี คําสั่งให้ทําการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ

4. รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณา จากสํานวนการสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และที่เจ้าหน้าที่รวมรวมเพิ่มเติมตามที่เสนอมาแล้ว เห็นว่า มีเหตุตามกฎหมาย เนื่องจากปรากฏมูลค่าความเสียหายถึง 2,078,760,000 บาท และเป็นคดีที่มีความซับซ้อน มีหรืออาจมี ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ หรือ การคลังของประเทศ 

จึงมีคําสั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาให้ทําการสอบสวนคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

อนึ่ง ภายหลังจากที่มีการส่งมอบสํานวนการสอบสวนเป็นที่เรียบร้อย ข้อบังคับกรรมการคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2547 กําหนดให้ต้องมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนผู้ทําการสอบสวนมาแต่เดิม กับ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับรายละเอียดที่ได้ดําเนินการไปแล้ว เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือ 

รวมทั้งตามมาตรา 22 วรรคท้ายของกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ ยังกําหนดให้สํานวนการสอบสวนที่ส่งมอบมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของสํานวนการสอบสวนคดีพิเศษ จึงทําให้พยานหลักฐานทุกประการที่ดําเนินการมาแล้วต้องถูกนํามาประกอบการพิจารณา จนตลอดกระบวนการยุติธรรม อันเป็นกระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ 

ในทางกลับกัน หากพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ยังทําการสอบสวนต่อไปโดยไม่ส่งมอบมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมเป็นการสอบสวนที่ปราศจากอํานาจ ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอํานาจฟ้องคดีต่อศาลไปด้วย 

เนื่องจากคดีพิเศษจะต้องสืบสวน และสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และหากต่อมาการสอบสวนของพนักงาน สอบสวนคดีพิเศษ พบว่า เป็นคดีที่มีการกระทําความผิดนอกราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะ “พนักงานสอบสวน” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องดังกล่าว จะเป็นผู้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการสอบสวนต่อไป จึงจําเป็นต้องชี้แจงและสื่อสารมายังสาธารณชนเพื่อทราบโดยทั่วกัน

                      ดีเอสไอยันรับโอนคดีผู้บริหาร GGC ทุจริตซื้อน้ำมันปาล์มดิบเป็นไปตามก.ม.    ดีเอสไอยันรับโอนคดีผู้บริหาร GGC ทุจริตซื้อน้ำมันปาล์มดิบเป็นไปตามก.ม.