"ทวี" เคลียร์ชัดปม 18 ก.พ. นี้ "ทักษิณ" เข้าข่ายพักโทษ?  

09 ก.พ. 2567 | 13:25 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2567 | 01:53 น.

รมว.ยุติธรรม ตอบชัด 18 ก.พ. นี้ "ทักษิณ" เข้าข่ายได้รับการพักโทษตามหลักเกณฑ์กรมราชทัณฑ์หรือไม่ พร้อมไขข้อข้องใจ หลังอัยการสั่งอายัดตัวปมคดี ม.112 จะมีผลต่อเรื่องนี้อย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

จากรายการเนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก. ซึ่งประกอบด้วย นายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ( มหาชน)  นายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ( มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด และ นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น

ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับทิศทางการบริหารงานและขับเคลื่อนกระทรวงยุติธรรมให้เดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นั่นคือ การยกระดับหลักนิติธรรมให้มีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ

ที่ต้องห้ามพลาดประเด็นร้อนกรณีเตรียมพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ตามกระแสข่าวที่ออกมาจริงหรือไม่ หาคำตอบได้ที่นี่    

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยืนยันระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า ความยุติธรรมนั้นเป็นนามธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ การรวมตัวขึ้นเป็นประเทศนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป้าหมายก็เพื่อความยุติธรรม ดังนั้น หากสังคมไหนประเทศใดเกิดความรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมจะทำให้เกิดการแตกความสามัคคีเกิดขึ้นได้

โดยรัฐบาลนี้ นายกฯ เศรษฐา ใช้คำว่า "ยกระดับหลักนิติธรรม" ให้เป็นสากล กล่าวคือ หลักกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยประชาชนมีส่วนร่วมซึ่งเป้าประสงค์สูงสุดของการเกิดกฎหมาย คือ เพื่อการเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพื่อความเป็นธรรม 

อีกประการ คือ กฎหมายใหญ่กว่าคนและต้องเป็นสมบัติของคนทุกคน ไม่ใช่เป็นสมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง ต้องไม่ใช้การใช้ภาษาที่แอบแฝง คลุมเครือ เมื่อจะตีความกฎหมายก็ปล่อยให้ไปอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น  

ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่กฎหมายไม่ค่อยยุติธรรมเพราะมีการใช้ดุลพินิจเยอะนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การใช้ดุลพินิจนั้นฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ใช้โดยดูเจตนารมย์ของกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่ของตุลาการที่ควรมีการพิจารณากฎหมายแล้วเห็นว่า เข้าองค์ประกอบ อย่างไรก็ดี หลักการที่ดีของกฎหมาย คือ การออกกฎหมายโดยรัฐสภาแต่ปัจจุบันกลายเป็นให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย  

กรณีของกฎหมายบางฉบับที่กำหนดให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่กรณีการปรับผู้กระทำความผิดซึ่งอาจไม่เท่ากันนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากกฎหมายอยู่ในรูปของคณะกรรมการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งวันนี้ก็พยายามที่จะไม่ให้กฎหมายที่มีคณะกรรมการเข้ามามากขึ้นเพราะก็จะมีค่าของกฎหมายตามมา อย่างเช่น ค่าการขอใบอนุญาตต่าง ๆ เป็นต้น 

เมื่อพูดถึงหลักสากลแล้ว วันนี้สิ่งที่กระทรวงยุติธรรมนำมาใช้มีอยู่ 3 หลัก หลักแรก คือ หลักประชาธิปไตยโดยคนมีส่วนร่วม หลักที่ 2 คือ หลักสิทธิมนุษยชนเพราะเป็นเรื่องที่สหประชาชาติยอมรับ หลักที่ 3 คือ หลักนิติธรรมที่พูดถึงไปแล้วข้างต้น คือ การใช้กฎหมายโดยกฎหมายต้องใหญ่กว่าคน

จาก 3 หลักดังกล่าวนี้สิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมต่อไป คือ การทำหน้าที่สำคัญ 3 ประการ นั่นคือ การแก้ปัญหาอาชญากรรมเพราะกฎหมายที่ออกมาทั้งหมดนั้นเพื่อต้องการขจัดหรือแก้ปัญหาอาชญากรรม เช่น การแก้ปัญหายาเสพติด และปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น 

ประการที่ 2 คือ ต้องพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการใช้กฎหมายที่ต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน 

"มีคำว่ากล่าว อาชญากร มิใช่หมายความแค่คำว่า อาชญากรรม แต่หมายถึง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วย ไม่ใช่การออกกฎหมายเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งมีความสุข หรือคนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์แต่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาทั้งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งกฎหมายที่ดีต้องออกโดยคนปราดเปรื่องและคนที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน อีกประการ คือ การที่กระทรวงยุติธรรมต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด 

วันนี้เพื่อปฏิรูปกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรมได้ยกเลิกกฎหมายความผิดทางอาญาคดีเช็คเป็นความผิดทางแพ่ง รวมถึงกฎหมายการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของบุคคลต้องได้รับการคุ้มครอง 

"กระทรวงยุติธรรมต้องทำเรื่องนี้เพราะปัจจุบันมีผู้ที่ก้าวพลาดในเรื่องเหล่านี้แล้วถูกคุมประพฤติ เมื่อออกมาแล้วถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนคุก รวมถึงกรณีคดีจากการมีความเชื่อที่แตกต่างกัน เรื่องของชาติพันธุ์ การแต่งกายซึ่งไม่ควรโดนดูถูกแต่ควรดูที่สมอง ความคิดและการปฏิบัติ"   

ทั้งนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาว่า จะฟื้นฟูหลักนิติธรรม สร้างความเข้มแข็งและให้เป็นมาตรฐาน โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ภายใต้การบริหารประเทศ 4 ปีนี้จะวางรากฐาน วางหลักนิติธรรมเอาไว้ให้กับประเทศ คนต้องเท่ากับคน การเปลี่ยนอำนาจตัวคน ๆ หนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งต้องเปลี่ยนผ่านอำนาจด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม 

ขณะที่การแก้ปัญหาคนล้นคุกนั้นต้องยอมรับว่า เป็นความผิดของกระทรวงยุติธรรมเอง รัฐธรรมนูญเขียนว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดจะไปปฏิบัติกับผู้ต้องหาแบบนักโทษไม่ได้ กล่าวคือ จะนำตัวไปควบคุมรวมกับนักโทษไม่ได้ ซึ่งพบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ระหว่างรอการพิจารณา ระหว่างรอการสอบสวน หรือระหว่างที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ยังไม่ตัดสินคดี วันนี้อยู่ในเรือนจำมากกว่า 5 หมื่นคนจากเรือนจำทั้งหมด 146 แห่งทั่วประเทศ 

กระทรวงยุติธรรม มองว่า กฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 89 / 1 ซึ่งออกมานานแล้ว ระบุให้ รัฐมนตรีสามารถออกกฎกระทรวงให้ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้อยู่ที่บ้านได้ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนด ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของ จุฬาฯ พบว่า ที่ผ่านมาคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ศาลพิจารณายกฟ้อง โดยล่าสุดกฎกระทรวงฉบับนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความเห็นจากประชาชน 

ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับนี้เพื่อให้ศาลมีดุลพินิจว่า ผู้ถูกกล่าวหาต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีให้คนกลุ่มนี้ไปอยู่ที่บ้าน ถูกกักที่บ้านแทนการถูกกักขังที่เรือนจำโดยใส่กำไลอีเอ็ม ระหว่างพิจารณาคดี เป็นต้น   

ตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ว่า วันนี้กระทรวงยุติธรรมบอกว่ากำลังยกระดับกระบวนการยุติธรรมไปสู่ความเป็นสากล แต่สังคมกำลังกังขาตั้งคำถามกรณี "ชั้น 14" ว่า เข้าข่ายระบบสากลด้วยหรือไม่ และที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมถูกบังคับใช้ตามกฎหมายเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือเป็นการทั่วไปแล้วหรือไม่ อย่างไร 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวเน้นย้ำเรื่องนี้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้เกิดก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริการประเทศซึ่งที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์มีการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2560 ให้มีสถานที่อื่นไว้รองรับนอกจากเรือนจำไว้เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการสังเกต อาการ หรือ รักษาผู้ต้องโทษโดยให้ความสำคัญไปที่การพิจารณาของแพทย์และพยาบาลในการพิจารณาถึงปัญหาทางด้านสุขภาพผู้ต้องขัง โดยกำหนดให้ต้องอยู่ห้องรวมแต่ได้ให้อำนาจพิเศษกับทางโรงพยาบาลสามารถจัด "พื้นที่ควบคุมพิเศษ" ซึ่งเป็นไปตามดุลพินิจของทางโรงพยาบาล ขณะที่ทางกรมราชทัณฑ์จะมีหน้าที่จัดคนดูแลซึ่งนายทักษิณเข้าเงื่อนไขดังกล่าวที่กล่าวมาข้างต้น

ต่อข้อซักถามที่ว่า หลังจากวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 นายทักษิณ เข้าเงื่อนไขของการขอพักโทษตามหลักเกณฑ์ของทางกรมราชทัณฑ์หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ตอนนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่มาถึงตน

อย่างไรก็ดี ขอยืนยันว่า กฎหมายการพักโทษนั้นไม่ใช่ใช้กับใครคนใดคนหนึ่งเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่จะพิจารณาซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย กรณีของการเจ็บป่วยจะต้องมีความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนอัยการ ผู้แทนจากศาล ผู้แทนจากตำรวจ ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย จากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ขณะที่ในส่วนของผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรมนั้นจะมีปลัดกระทรวงและรองปลัด และ ปปส. ที่จะร่วมพิจารณา 

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับการพักโทษดังกล่าวสามารถเดินทางภายในจังหวัด ๆ นั้นได้ กรณีหากต้องการเดินทางข้ามจังหวัดต้องขออนุญาตห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ ส่วนเรื่องที่นายทักษิณยังมีข้อกล่าวหากรณีมาตรา 112 เมื่อปี 2558 ที่ล่าสุดอัยการขออายัดตัวไว้แล้วนั้นยังมีสิทธิขอพักโทษได้หรือไม่

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทางอัยการซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับการพักโทษของนายทักษิณ ไม่เกี่ยวกัน