จับตาปล่อยตัว“ทักษิณ”หลังเที่ยงคืน 17 ก.พ.นี้

13 ก.พ. 2567 | 04:53 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2567 | 09:24 น.

จับตา“กรมราชทัณฑ์”เตรียมปล่อยตัว “ทักษิณ” หลังเที่ยงคืน 17 ก.พ.นี้ หลัง“ทวี”ในฐานะรมว.ยุติธรรมออกมายืนยันปรากฏชื่อได้รับการ “พักโทษ”

วันที่ 13 ก.พ. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม  ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น 1 ใน 930 คน ที่ได้รับ “พักโทษ” โดยคณะอนุกรรมการพักโทษเห็นชอบตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เสนอ เนื่องจากเกณฑ์ของ นายทักษิณ อยู่ในกลุ่มเจ็บป่วยร้ายแรง หรือ พิการ หรือ อายุ 70 ปีขึ้นไป 

ส่วน นายทักษิณ จะได้พักโทษวันไหน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “ท่านต้องโทษ 1 ปี ถ้า 1 ใน 3 คือ 4 เดือน แต่กรณีของ นายทักษิณ พอครบ 6 เดือน ก็เป็นอัตโนมัติที่จะได้รับการพักโทษ” 
 

ส่วนจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 18 ก.พ.นี้ หรือไม่นั้น ต้องไปไล่วันดู แต่เราไม่มีวันหยุดอะไร ถ้าได้รับครบเกณฑ์ก็เป็นสิทธิ์ของผู้พักโทษ ทางราชทัณฑ์ก็จะมีการประสานกัน

“อยากจะเรียนว่ามันเป็นเรื่องปกติ ผมได้ตรวจสอบว่าโครงการการพักโทษ กรณีเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรืออายุ 70 ปี มันเริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีอยู่จำนวน 2,240 คน ซึ่งนอกจากการพักโทษแล้ว ยังมีการยกเลิกการพักโทษก็มี เนื่องจากว่าในช่วงที่ผ่านมาต้องมีการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่อนุกรรมการกำหนด” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 ก.พ.นี้ จะเป็นวันครบ 6 เดือน ที่ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เข้าเกณฑ์การได้รับการพักโทษ นับแต่กลับถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ จะได้รับการพักโทษ กรณีมีเหตุพิเศษหรือไม่ว่า ทุกคนจะรู้ดีว่าครบ 6 เดือน ถ้าวันไหนก็วันนั้น 

“ถ้าถึงเวลาแล้วท่านทักษิณ มีรายชื่อได้รับการพักโทษก็ได้รับสิทธิ์ ...แม้ว่าในวันที่จะได้รับการพักโทษจะตรงกับวันเสาร์ หรือ วันอาทิตย์ เราก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังตามสิทธิที่เขาได้รับ” 

นายสมบูรณ์ ระบุอีกว่า “หลังเที่ยงคืนวันที่จะได้พักโทษ มันก็ถึงวันของเขา ราชทัณฑ์จึงไม่มีสิทธิ์จะเอาตัวผู้ต้องขังอยู่ต่อ แต่การที่จะอยู่ต่อมันก็เป็นการอะลุ่มอะล่วยกันว่าวันรุ่งขึ้นอาจจะค่อยปล่อยตัวได้ ผมจึงยังตอบไม่ได้ว่าเที่ยงคืนของวันพักโทษของผู้ต้องขังจะได้ออกเลยหรือไม่ เพราะมันอยู่ที่ข้อเท็จจริงของแต่ละราย”

เมื่อถามว่าหาก นายทักษิณ ได้รับการพักโทษ จะต้องแจ้งใช่หรือไม่ว่าเมื่อพักโทษจะไปอยู่ที่ใด และใครเป็นผู้อุปการะ นายสมบูรณ์ ตอบว่า “มันจะมีเงื่อนไขระบุว่า ถ้ากรณีมีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีคนอุปการะ หรือให้ความช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ อย่างไร

ดังนั้น คนที่ได้รับการพักโทษจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งการพักโทษไม่ได้หมายความว่าพ้นโทษ หรือ พ้นจากการควบคุมของกระทรวงยุติธรรม แต่ยังอยู่ในการกำกับดูของกระทรวงยุติธรรม แค่เปลี่ยนจากการรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ไปเป็นกรมคุมประพฤติ และ ไม่ต้องมีหมายปล่อยของศาล”

สำหรับเรื่องของการอายัดตัว นายทักษิณ สำหรับดำเนินคดี มาตรา 112 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. และอัยการสูงสุดนั้น นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการ ที่จะต้องพิจารณาร่วมกับกรมราชทัณฑ์ 

ส่วนจะอายัดตัวได้หรือไม่นั้น อยู่ที่พนักงานอัยการ ขั้นตอนในปัจจุบัน ต้องเรียนว่า ยังอยู่ในกระบวนการที่กรมราชทัณฑ์ จะต้องหารือกับอัยการว่า ถ้ามีชื่อ นายทักษิณ ได้รับการพักโทษจริง ๆ วันนั้นขั้นตอนจะเป็นอย่างไร แต่ความเห็นหลักและการตัดสินใจ จะเป็นของอัยการ โดยที่กรมราชทัณฑ์ก็จะต้องพิจารณาร่วมด้วย

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการติดหรือไม่ติดกำไล EM ของนายทักษิณ หากได้รับการพักโทษนั้น ตนขอชี้แจงถึงมติของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2563 คนเจ็บป่วยหรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องสวมหรือติดกำไล EM 

อีกทั้งในกระบวนการของการพักโทษ คณะอนุกรรมการฯ จะไม่ได้มีการระบุว่าต้องทำอะไร เพราะกรมราชทัณฑ์มีระเบียบที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว และกรมคุมประพฤติก็ต้องไปปฏิบัติตามระเบียบนั้น 

“ผมยืนยันว่า ถ้าผู้ต้องขังรายใดที่อายุมากกว่า 70 ปี และเจ็บป่วย มีเหตุร้ายแรงจะไม่มีรายใดที่ได้ติดกำไล EM เพราะถ้าต้องติดกำไล เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็ต้องติดคุก เพราะทำผิดระเบียบกรมราชทัณฑ์” ที่ปรึกษ รมว.ยุติธรรม ระบุ