ประธานศาลรธน.มองสื่อยุคดิจิทัลยุ่งเหยิง แม้รวดเร็วแต่เกิดแบ่งฝักฝ่าย

01 ก.ค. 2567 | 04:36 น.

ประธานศาลรธน.มองสื่อยุคดิจิทัลยุ่งเหยิง แม้รวดเร็วแต่มุมกลับเกิดการแบ่งฝักฝ่าย รับถ้าควบคุมเบ็ดเสร็จ ก็ไม่ใช่ “เสรีประชาธิปไตย” แต่ไม่ควบคุมเลยคือ “อนาธิปไตย” ย้ำต้องเดินทางสายกลาง ยันศาลเป็นองค์กรความลับ หากเปิดเผยหมดรัฐจะไม่เหลือสภาพ

วันนี้(1 ก.ค. 2567) ศาลรัฐธรรมนูญจัดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชนประจำปี 2567 โดยนายนครินทร์  เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสื่อในสังคมข้อมูลข่าวสารยุคดิจิทัล” ตอนหนึ่งระบุว่า

ความยุ่งเหยิงของข้อมูลยุคดิจิทัลมีมาก แน่นอนว่าสื่อเป็นเครื่องมือของศาลและศาลต้องใช้สื่อเป็น แต่ขณะเดียวกันเราก็อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ถูกบีบโดยสื่อด้วย จะรายงานสถานการณ์ทางการเมือง หรือ เศรษฐกิจ ในทางบวก หรือ ลบ ก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจของศาลอยู่ด้วยในบางลักษณะ จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละบุคคล บางท่านอาจจะคิดถึงสถานการณ์มากเป็นพิเศษ แต่บางท่านก็อาจจะไม่สนใจสถานการณ์บ้านเมืองเลยก็ได้  

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพพอสมควร อยากชวนคิดว่าสื่อยุคดิจิทัลมีหน้าตาอย่างไร แต่คิดว่าแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ

1.สื่อที่เจ้าของทุกองค์กรต้องมีสื่อเป็นของตัวเอง ศาลก็มีสื่อเป็นเครื่องมือของตัวเอง มีจดหมายข่าวรายการข่าว เป็นของตัวเอง แต่ปัญหาคือ สื่อที่มีเจ้าของปัจจุบันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะเจ้าของสื่ออาจไม่ได้เป็นองค์กรแต่เป็นบุคคลธรรมดาก็ได้ สื่อดิจิทัลทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของสื่อได้ด้วยตัวเอง 

ฉะนั้น คำว่าเจ้าของสื่อปัจจุบันความหมายมันกว้าง เจ้าของสื่อคนเป็นหน่วยงาน แต่หน่วยงานก็ปรับตัวได้ยากมาก เราไม่สามารถสื่อสารออกไปได้อย่างที่เราต้องการทั้งหมด และสภาพสื่อทุกวันนี้คิดว่าขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของคนในองค์กรด้วย องค์กรศาลก็ไม่ใช่องค์กรที่จะต้องกระตือรือร้นสื่ออะไรออกไปทั้งหมด

“ไม่กี่วันนี้ ตุลาการท่านหนึ่งบอกว่าเราควรบอกดีไหมว่า ทำไมเราต้องประชุมวันที่ 18 ไม่ใช่สายมงสายมูอะไรนะครับ ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน ไม่ใช่ว่าเราจะไปตกลงกับใคร  เหตุผลง่ายมาก ตุลาการอาวุโสท่านหนึ่งขอลา วันที่ 19 เราประชุมไม่ได้ ทำให้ต้องยกเว้น การประชุมไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน แต่เราไม่ใช่หน่วยงานที่จะต้องกระตือรือร้นแถลงข่าวได้ทุกเรื่อง

จริงๆ เรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ต้องถูกคุมด้วยวินัย คนอยู่ในศาลต้องรู้ว่าอะไรควรพูดกับสื่อ ไม่ควรพูดกับสื่อ ผมก็เห็นใจนะครับ” 

2.สื่อที่เราว่าจ้าง เช่น จ้างวันเกิดศาลรัฐธรรมนูญ มีการซื้อหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นการบริหารสื่อรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นกลไกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สื่อปัจจุบันนี้ว่าจ้างด้วยองค์กรธุรกิจ วัดกันที่เรตติ้ง ซึ่งศาลคงไม่สามารถอยู่ในฐานะที่ว่าจ้างได้ทั้งหมด

3. เป็นสื่อที่เราไม่ได้ทำเอง ไม่ต้องว่าจ้าง แต่มาจากการได้รับความไว้วางใจ หรือ  Earned Media สื่อประเภทนี้น่าสนใจ ถ้าคนนั้นไว้ใจองค์กรแล้วเขียนให้เรา โดยที่เราไม่ต้องจ้าง ตนว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจมากที่สุด มีสื่อที่เกาะติดศาล ตนคิดว่าสื่อที่มาในรูปแบบนี้น่าสนใจ 

นายนครินทร์ ระบุด้วยว่า เมื่อเกิดยุคดิจิทัลขึ้นมา ทำให้การติดต่อกันง่ายขึ้น อยู่ที่ไหนก็เขียนข่าวได้ เข้าถึงกันง่าย แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเราพูดอะไรออกไป มันมีสื่อดิจิทัลค่อยกลั่นกรอง และเป็นเสียงก้องสะท้อนกลับมาหาเราอีก 
ในมุมกลับ เราต้องอย่าลืมว่า โลกดิจิทัลทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็น Polarization โลกของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจนที่สุด ทั้งการเมืองระดับประเทศ และการเมืองภายใน และการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำให้คนมีการรับฟังความอีกฝั่งหนึ่งน้อยเกินไป

นายนครินทร์ ตั้งคำถามว่า จรรยาบรรณของสื่อยุคดิจิทัลอยู่ที่ไหน ในอดีตมีสมาคม เราสามารถแนะนำ อบรม ตักเตือนกันได้ แต่จรรยาบรรณของสื่อยุคดิจิทัลเป็นปัจเจกบุคคล จะตักเตือนกันอย่างไร ตนเข้าใจว่ามีกลไกอยู่ เช่น การตักเตือนตัวเอง หรือ ผู้หลักผู้ใหญ่คอยตักเตือน 

“ถ้าควบคุมดูแลเบ็ดเสร็จไม่ใช่สังคมเสรีประชาธิปไตย แต่การไม่ควบคุมกันเลย คือ สังคมอนาธิปไตย เรายืนอยู่ 2 ขา โลกฝั่งหนึ่งจะเป็นอนาธิปไตย หรือ จะเป็นเผด็จการ แต่ผมว่าเราอย่าเป็นทั้ง 2 ฝ่ายจะดีกว่า เราควรอยู่ตรงกลาง ให้สื่อยุคดิจิทัลเคลื่อนที่ไป

พวกเราคงต้องคิดถึงความพอเหมาะพอควร สื่อกัน บางเรื่องเราตอบได้ แต่บางเรื่องอย่าลืมนะครับ ศาลเป็นองค์กรที่อยู่กับความลับ ถ้าเราเปิดเผยทุกอย่าง อันนั้นไม่ใช่ศาล ความจริงองค์กรของรัฐบางประเภทก็เปิดเผยทุกอย่างไม่ได้อยู่ดี 

เราอย่าคิดว่าต้องทำทุกอย่างให้ทุกอย่างโปร่งใส เปิดเผยได้ทั้งหมด บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความ ความมั่นคง ถ้าเราเปิดเผยความมั่นคงของประเทศต่อสาธารณชนทั้งหมดก็เรียบร้อยครับ รัฐจะไม่เหลือสภาพเลย 

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งหลายก็เปิดเผยไม่ได้จริงๆ เพราะฉะนั้นความพอเหมาะพอควร เราอย่าสุดโต่ง ให้อยู่ในจุดที่มีความสมดุลกัน ระหว่างความโปร่งใสตรวจสอบได้ กับความลับที่ต้องดูแลให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัยต่อประเทศชาติ” 

นายนครินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดงานนี้ ตนอยากได้ยินเสียงของสะท้อนกลับมาจากผู้สื่อข่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วย แล้วเราค่อยคิดพิจารณา

สำหรับการจัดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชนประจำปีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ