วันนี้ (8 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องประเด็นต่าง ๆ และรายงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกวุฒิสภา (สว.) รวมไปถึงรายงานผลการเลือก สว.ระดับประเทศ ที่ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่าน โดยใช้เวลาการประชุมตั้งแต่ประมาณ 11.00 น. ถึงเวลาประมาณ 13.00 น. หรือประมาณ 2 ชั่วโมง และเป็นการประชุมลับ
ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น มีรายงานว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการพิจารณารับรองรายงานผลการเลือก สว. แม้เรื่องดังกล่าว จะอยู่ในระเบียบวาระการประชุม
โดยมีรายงานว่า กกต.แต่ละคน ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันถึงการรับรองผลการเลือก สว. จึงมีเพียงการพูดคุยถึงงานที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการประกาศรับรองผล
อย่างไรก็ตาม การเลือก สว.ระดับประเทศ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ขณะนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาการรับรองผลการเลือก สว.ของ กกต. ระบุเพียงว่า สามารถรับรองผลได้ เมื่อพ้นกำหนด 5 วัน หลังการเลือกในระดับประเทศเสร็จสิ้น หาก กกต.เห็นว่า กระบวนการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม
ก่อนหน้านั้น พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้สมัคร สว.กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายฯ และคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามคำร้อง หลังจากที่ได้ยื่นมาก่อนหน้านี้ ในการคัดค้านการประกาศรับรองผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. 200 คน และสำรอง 100 คน
รวมถึงพบความผิดปกติในการลงคะแนนคล้ายมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ และได้ยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติม เกี่ยวกับโพยลงคะแนนของผู้สมัคร สว. และขอให้ กกต.ได้เปิดหีบนับคะแนนใหม่อีกรอบ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เข้าให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของ กกต. เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าตามข้อเรียกร้อง วันนี้จึงมาติดทำความคืบหน้าอีกครั้ง
พล.ต.ท.คำรบ ระบุว่า ข้อเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่เลื่อนลอย แต่ตนและเพื่อน สว.มีหลักฐาน พบโพยการลงคะแนน มีการลงคะแนนเป็นชุด และได้ถ่ายภาพบัตรเลือก สว.ไว้เป็นหลักฐาน หลังได้รับโทรศัพท์คืนจากเจ้าหน้าที่ในช่วงท้ายของการนับคะแนน
ทั้งนี้ เห็นว่าตามมาตรา 25 และ 30 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ระบุว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ จะต้องดำเนินการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
เมื่อผู้สมัครพบเหตุไม่ปกติได้แจ้งต่อ กกต. หาก กกต.ยังเพิกเฉย หรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอันใดเป็นการขัดขวางไม่เป็นไปตามกฎหมาย และหาก กกต.ไม่มีเงินเพียงพอในการเช่าสถานที่นับคะแนนใหม่ โดยใช้อาคารอิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็ขอให้เปิดขายบัตรให้ใบละ 100 ให้กับผู้สมัครที่สนใจ เชื่อว่าน่าจะได้เงินเพียงพอในการเช่าสถานที่
"หากผมยื่นไปแล้วท่านไม่ดำเนินการ อาจจะขัดต่อมาตรา 32 ซึ่งได้กำหนดโทษไว้ว่า หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี หลับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี ผมจึงมายื่นคำร้องเพราะถือว่าทั้งผมและผู้สมัครทั้งหมดเป็นผู้เสียหาย"
นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับที่ กกต.ชะลอการประกาศรับรองผลการเลือก สว.ออกไปก่อน ซึ่งหากการตรวจสอบพบว่าที่ สว.ทั้ง 200 คน มีคนใดทุจริตก็ไม่ต้องประกาศรับรอง และให้นำบัญชีสำรองในกลุ่มนั้นๆขึ้นมา หากบัญชีสำรองยังไม่พอ ก็ขอให้จัดการเลือก สว.ใหม่ในกลุ่มนั้นๆ และเห็นว่าจากปัญหาต่างๆ ในการเลือก สว.ไม่ควรให้การเลือก สว.เป็นโมฆะ