บ่ายวันนี้(8 ก.ค. 67) มีการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือก สว. ของ นายสมชาย แสวงการ สว. และคณะ
นายสมชาย อภิปรายเสนอญัตติตอนหนึ่งว่า ในการเลือก สว. ที่ผ่านมานั้นมีปัญหา ดังนั้น สว.ปัจจุบันที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำหนดทุกมาตรา ยกเว้นอำนาจโหวตนายกฯ ตามมาตรา 272 จึงขอตั้งกมธ. เพื่อพิจารณา ซึ่งเป็นความประสงค์ดี กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ใช่เรื่องที่ สว.ปัจจุบันต้องการอยู่ยาว
โดยขณะนี้ สว.ปัจจุบัน เก็บของคืนหมดแล้ว หากสมาชิกเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว จะขอเวลาทำงาน 30 วัน และพร้อมเริ่มงานทันที ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ รวมถึงจะทำหน้าที่เป็นกลาง ตรงไปตรงมา
นายสมชาย กล่าวว่า หากมีกรณีผู้ร้องของผู้สมัคร สว. จะส่งเรื่องให้กรรมาธิการที่ตั้งขึ้นพิจารณา และเมื่อทำงานแล้วจะเสนอรายงานเสนอต่อประธานวุฒิสภา กกต. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สว.ใหม่ รวมถึงเป็นข้อมูลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ยืนยันว่า เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุจูงใจใดแอบแฝง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาดังกล่าว มี สว. ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นในทิศทางสนับสนุนญัตติดังกล่าว ทั้งนี้มีการอภิปรายที่น่าสนใจ คือ การสนับสนุนให้ตรวจสอบข้อร้องเรียนของผู้สมัคร สว.
อาทิ นายออน กาจกระโทก สว. อภิปรายสนับสนุนว่า ตนมีเรื่องร้องเรียนของ ผู้สมัคร สว. ที่เอ่ยชื่อได้ เพราะเขาพร้อมเป็นพยาน คือ นายสงบ จินะแปง บอกว่า ในการเลือก วันที่ 26 มิ.ย. เวลา 05.00 น. มีรถบัสและรถตู้มาส่งบุคคลที่จะเลือกระดับประเทศ ที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฮั้ว เอาเปรียบบุคคลอื่น
รวมถึงมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ กกต. และผู้สมัคร ที่สนทนากับผู้สมัครคนอื่นในวันเลือกระดับประเทศ พร้อมกับเสนอเงินให้ 50,000 บาท เพื่อให้เลือกตนเอง ซึ่งตนพร้อมนำรายละเอียดมอบให้กับกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นให้ตรวจสอบ
ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. อภิปรายสนับสนุน พร้อมระบุด้วยว่า สว.ที่มาจากการการเลือกกันเอง จะได้รับการรับรองจาก กกต. ซึ่งต่างจาก สว. ที่ทำหน้าที่ปัจจุบัน ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ดังนั้นกรณีที่ สว.ใหม่ ตำหนิติเตียน สว.ปัจจุบัน ขอให้หุบปาก และกลับไปนั่งพับเพียบให้เรียบร้อย
“ผมขอให้ ว่าที่สว.ใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เพื่อให้ท่านเจริญรุ่งเรือง แต่หากทำหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา ผมบอกไว้อย่างเดียวว่า อาจจะมี สนช. ใหม่ครับ” นายกิตติศักดิ์ อภิปราย
ด้าน สว. ที่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ได้ลุกอภิปราย อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ที่ระบุตอนหนึ่งว่า ประเด็นการตรวจสอบ ตามคำร้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ไม่ใช่ สว. เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก สว. นั้น ให้อำนาจไว้ในมาตรา 62 มาตรา 63 ให้อำนาจ กกต. ประกาศรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังได้
“ดังนั้นจะบังคับให้ กกต. เห็นด้วยกับท่านไม่ได้ มีร้อง 600 เรื่อง มีพยานเยอะ แต่เป็นพยานปั้น พยานกลั่นแกล้ง ไม่อาจมีใครรู้ได้ ต้องตรวจสอบ ซึ่ง สว.ที่ได้รับเรื่องร้องต้องส่งให้ กกต. ไม่ใช่ทำตัวเป็น กกต. แล้วไปวินิจฉัยแทน
ไม่เอากลุ่มสีน้ำเงิน จะเอากลุ่มสีส้มหรือ หรือ สีแดง หากจะเอากลุ่มที่พอใจ ไม่มีทางจบได้ ทั้งนี้การเลือกไม่ว่าได้ผลเป็นอย่างไรต้องยอมรับ ทั้งนี้ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ. เพราะก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ” นายเสรี กล่าว
ทั้งนี้ การอภิปรายของ สว. ได้ใช้เวลารวมกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนที่ นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ประธานในที่ประชุม จะขอให้ สว. ร่วมลงมติ โดยพบว่า เสียงข้างมาก 101 คน เห็นด้วยกับการตั้งกมธ. ขณะที่ 10 เสียงไม่เห็นด้วย และมีผู้งดออกเสียง 17 คน ก่อนจะตั้งกมธ.ศึกษา 21 คน และใช้เวลาทำงาน 30 วัน
สำหรับรายชื่อ กมธ.ทั้ง 21 คนดังกล่าว แบ่งเป็น สัดส่วนสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 14 คน ดังนี้ 1.นายกิตติ วะสีนนท์ 2.นายจรินทร์ จักกะพาก 3.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 4.นายประพันธุ์ คูณมี 5.น.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม 6.พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป
7.ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี 8.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 9.พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร 10.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม 11.นายสมชาย แสวงการ 12.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย 13.พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ 14.นายอนุพร อรุณรัตน์
สัดส่วนบุคคลภายนอก (ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก) จำนวน 7 คน ดังนี้ 15.นายคมสัน โพธิ์คง 16.นายเจษฎ์ โทณะวณิก 17.นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ 18.พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น 19.นายพิชัย ชินชัยพงษ์ 20.พ.ต.อ.เพทาย ทัพมงคล และ 21.นายสมคิด เลิศไพทูรย์