มติเอกฉันท์ศาลรธน.ชี้ 3 มาตรากฎหมาย "จ้างงานคนพิการ" ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

17 ก.ค. 2567 | 07:44 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2567 | 07:49 น.

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 และ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีว่าด้วยการจ้างงานคนพิการทำงานในสถานประกอบการ

วันนี้ (17 ก.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26  และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 35 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากศาลแรงงานกลางส่งคำโต้แย้งของจำเลยรวม 2 คำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า 3 มาตราของกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำหรับ 3 มาตราของพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า การจ้างงานคนพิการ มาตรา 33  เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถาน ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม กับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ หรือ หน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการ เข้าทำงาน การส่งเงินเข้ากองทุนกรณีที่นายจ้าง หรือสถานประกอบการมิได้รับคนพิการเข้าทำงาน

มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงาน ตามจำนวนที่กำหนดตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 25 (5) ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวง กำหนดจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุน"

การส่งเสริมอาชีพ มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือ นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงาน ตามมาตรา 33 

และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตาม มาตรา 34 หน่วยงานของรัฐ นายจ้าง หรือ เจ้าของสถานประกอบการนั้น อาจให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้า หรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวย ความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ

ส่วนรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรากฎหมาย ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และมาตรา 40 กำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ