วันนี้(วันที่ 17 ส.ค. 2567) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณาที่ 505 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ศาลอุทธรณ์ได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
โดยเป็นคดีที่ 13 โดยศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาสั่งยกฟ้อง ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ หน้าที่ 36 -40
โดยตนในฐานะเป็นจำเลยที่ 2 ว่า ตนได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีอำนาจหน้าที่ศึกษาการป้องกันและปราบปราม
ทั้งข้อกฎหมายและพฤติกรรมของแต่ละโครงการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบโครงการที่เกี่ยวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กับกลุ่ม บริษัท คิงเพาเวอร์ โดยตรวจสอบใน 2 สัญญา คือ
หลังศึกษาเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวแล้ว จึงให้สัมภาษณ์ทางสื่อ กระทั่งถูกกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฟ้องหมิ่นประมาทหลายคดีรวมทั้งคดีนี้ด้วย
เช่นเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 2683-2684 / 2561 ที่มีข้อความ และเนื้อหาเช่นเดียวกับคดีนี้เพียงแต่เป็นคนละวันเวลากัน ซึ่งศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสามศาล
โดยวินิจฉัยว่าการให้สัมภาษณ์ของนายชาญชัยไม่ใช่เรื่องที่กล่าวอ้างโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีพยานหลักฐาน หรือกล่าวอ้างขึ้นลอยๆแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงแน่ชัด
จนกระทั่งในที่สุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต้องมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และ 3 ทราบว่า สัญญาที่ทำกันไว้นั้นไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ)
จึงไม่มีผลผูกพันเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 และ 3 ยื่นฟ้อง ทอท. ต่อศาลแพ่ง ซึ่งในคำฟ้องดังกล่าว โจทก์ที่ 2 และ 3 ยอมรับว่า การลงทุนในแต่ละโครงการมากกว่า 1,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงานผู้การแผ่นดินตรวจสอบ
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ยังระบุตามคำพิพากษาศาลต่อว่า ส่วนการแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งผลการตรวจสอบให้ ทอท. ว่าต้องได้ค่าตอบแทนอัตรา 15 % ของราคาขาย ไม่ใช่อัตรา 3 % ของค่าบริการ
แสดงให้เห็นว่า ข้อความที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์สื่อเป็นข้อเท็จจริงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่นายชาญชัยปั้นแต่งขึ้นมาเพียงเพื่อจะกลั่นแกล้งกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ทั้ง 3 บริษัท ให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุผลให้นายชาญชัยเชื่อโดยสุจริตใจว่า สิ่งที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์เป็นความจริงทั้งสิ้นที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะอาจเกิดความเสียหายขึ้นต่อส่วนรวม
ในฐานะ ทอท. เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจภายหลังได้แปรสภาพมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เท่ากับ หน่วยงานของรัฐหรือประเทศชาติได้รับความเสียหายไปด้วยการร่วมกันรักษาปกป้องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองดีโดยทั่วไป
จึงมีเหตุทำให้นายชาญชัยเชื่อได้ว่า โจทก์ทั้งสามบริษัทมีส่วนร่วมกระทำการในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่ด้วย อยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปจะติชมด้วยความเป็นธรรมได้เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามครองธรรม
ทั้งยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนโดยทั่วไปย่อมจะกระทำ ดังนั้นการกระทำของจำเลย (นายชาญชัย) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสามบริษัท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ชอบแล้ว
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามในข้ออื่น ๆ นั้น ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา จึงไม่รับวินิจฉัย ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ด้วยกรณีดังกล่าว กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ จงใจฟ้องปิดปากผม และเมื่อศาลฎีกาสั่งยกฟ้องไป 11 คดีแล้ว ผมก็เห็นว่าโจทก์ทั้งสามได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ที่ระบุว่า ‘ผู้ใดเอาความเท็จฟ้องผู้อื่นว่า กระทำผิดความผิดอาญา ต้องมีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
โดยเป็นการนำข้อมูลเดียวกัน มาฟ้องซ้ำเพื่อกลั่นแกล้งให้ผมถูกลงโทษและได้รับความเสียหาย ทั้งยังกระทบสิทธิ ตามที่กฎหมายคุ้มครอง อีกทั้งข้อเท็จจริงทั้งหมดที่นำมาฟ้อง โจทก์ได้ร่วมกระทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะและประเทศชาติ
ผมจึงขอใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องกลับทุกกรณี เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้การใช้สิทธิปกป้องสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นายชาญชัย กล่าว