“รัฐบาล-ฝ่ายค้าน”ผนึกแก้รัฐธรรมนูญรื้อปมจริยธรรมร้ายแรง

18 ก.ย. 2567 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 05:17 น.

พรรคเพื่อไทย ลุยยื่นแก้รัฐธรรมนูญ สัปดาห์หน้า รื้อปมจริยธรรมร้ายแรง กำหนดนิยามให้ชัด ต้องศาลฎีการับฟ้อง ป้องนักร้องยื่นกลั่นแกล้ง ขณะที่ “พรรคประชาชน”ไม่รีรอยื่นแก้รธน.แล้ว หั่นอำนาจ ป.ป.ช.สอบจริยธรรม

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ถึงความคืบหน้าการยกร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ว่า พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งกำลังยกร่างอยู่ เข้าใจว่าใกล้จะเสร็จแล้ว ทั้งหมดมี 4-5 มาตรา โดยจะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก ขณะที่ฝ่ายค้านก็กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยแต่ละพรรคจะต่างคนต่างยื่นร่างเข้าสภาแล้วจึงไปว่ากันในการพิจารณาของรัฐสภา

ยืนยันว่า การแก้ไขครั้งนี้ กฎหมายจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่มีการตีความมากเกินไปในเรื่องของจริยธรรม โดยประเด็นที่เป็นปัญหาจะเป็นเรื่องของคำว่า “จะต้องไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งถือเป็นคำที่กว้าง และต้องมีการตีความ

ผิดจริยธรรมให้ศาลชี้ขาด

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ในเรื่องของการยื่นฟ้องประเด็นผิดจริยธรรมนั้น ให้ศาลเป็นผู้ชี้ชัด โดยไม่ใช่เป็นการสั่งหยุดปฎิบัติหน้าที่ โดย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  เพราะการชี้มูลนี้ ก็ยังไม่ฟันธงว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด 

ส่วนในเรื่องของการเอาผิดผู้ที่ร้องนั้น ส่วนตัวเห็นว่า กฎหมายปัจจุบันมีอยู่แล้ว กรณีผู้ร้องเนียนหากมีการร้องเท็จ ซึ่งก็ต้องเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบไป 

“ผมยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองหรือนักการเมือง แต่เป็นการแก้ไขที่มีมาตรฐาน หรือจะทำอย่างไร ที่ไม่เกิดการตีความจนกว้างมากเกินไป และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนักการเมือง”

ส่วนการแก้ไขเรื่องการลงคะแนนเสียงในการตัดสินคดีต่างๆ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

นายชูศักด์ กล่าวว่า รัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ในตัวบทของรัฐธรรมนูญ เพราะคดีเรื่องสำคัญใหญ่ๆ การที่จะใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการตัดสิน ดังคดีของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยมติ 5 ต่อ 4 อยากให้ใช้วิจารณาญาณว่าเป็นแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ จึงเกิดแนวคิดว่าควรจะมีสัดส่วนคะแนนเสียงในการลงมติมาากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งจะแก้ไขในหลายมาตรา และคาดว่าจะยื่นร่างประชามติเข้าสู่รัฐสภาไม่เกินสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่าหาก ป.ป.ช.รับเรื่องร้องเรียนหรือชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริยธรรมแล้ว จะถือว่ายังไม่มีความผิดใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า “ใช่ เพราะการร้องไปที่ ป.ป.ช. ยังไม่รู้ว่าเขามีความผิดแล้วหรือยัง ดังนั้น ถ้าจะสกัดกั้นคนด้วยวิธีการนี้ก็เป็นเรื่องง่ายๆ คือมีคนไปร้องป.ป.ช. ก็จะทำให้คนที่ถูกร้องได้รับผลกระทบและจบเลย”

เมื่อถามว่า แสดงว่าเส้นตัดที่จะพิจารณาว่าใครเข้าข่ายขัดจริยธรรมหรือไม่ซื่อสัตย์สุจริต คือ ศาลฎีกาต้องรับฟ้องในคดีจริยธรรมใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราคิดเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดนักร้องนักยื่นตรวจสอบนั้น มีกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนจะทำให้เข้มขึ้นหรือไม่ก็ต้องมีการพิจารณาต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มนักร้องที่หวังผลทางการเมือง แต่ขอยืนยันว่าขณะนี้มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้อยู่แล้ว

“อนุทิน”หนุนตีกรอบจริยธรรม

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในประเด็นมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ว่า ยังไม่ได้หารือกัน แต่อะไรที่ดูแล้วแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พรรคภูมิใจไทยก็พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าคิดว่าการตีความเรื่องจริยธรรม หรือความซื่อสัตย์สุจริต ควรมีกรอบที่ชัดเจนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างควรจะมีกรอบ หากไม่มีกรอบ แล้วปล่อยให้ปลายเปิด ก็ไม่ทราบว่าจะเริ่มและสิ้นสุดตรงไหน เช่น กินเกี่ยมบ๊วยเคี้ยวเสียงดัง หรือกินข้าวไม่ปิดปาก จะถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ดังนั้นการมีกรอบจริยธรรม ก็ถือว่าดี

เมื่อถามยํ้าว่าแสดงว่าเห็นด้วยในหลักการที่นายชูศักดิ์ เสนอใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งเดียวที่พรรคภูมิใจไทยจะไม่แตะ คือหมวด 1 และหมวด 2 และจะไม่ยุ่งเกี่ยวในการแก้ไขมาตรา 112 ส่วนเรื่องอื่นๆ ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุและผล อะไรที่ตึงเหลือเกินจนคนบริหารบ้านเมืองไม่กล้าทำอะไร มัวแต่คำนึงว่าจะถูกดำเนินคดี แล้วมาโดนคดีง่ายๆ ก็ควรจะแก้ไข

เมื่อถามว่า นายชูศักดิ์ระบุว่า คนที่ริเริ่มแก้ไข คือพรรคประชาชน จะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คิดว่าทุกพรรคคงไปดูว่าจะเริ่มตรงไหน อย่างกรณีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คนก็ไปพูดว่าเป็นผู้มีอิทธิพล ยังไม่รู้เลยว่าท่านผิดตรงไหน แต่โชคดีที่ท่านถอนตัว เพราะไม่อยากให้เป็นปัญหากับพรรค พรรคก็ต้องขอบคุณ ดังนั้น การกำหนดกรอบให้ชัดเจน ก็ดีเหมือนกัน

“ประชาชาติ”เอาด้วยแก้รธน.

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวเช่นกันว่า พรรคประชาชาติได้นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยเราต้องการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และมีการทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาชาติอยากให้มีการแก้ไขเรื่องการกระจาย
อำนาจ เรื่องสวัสดิการของประชาชน

และอยากให้มีการทบทวนบทบัญญัติในหมวดที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงอยากให้มีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป

เมื่อถามย้ำว่าควรจะมีการแก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานจริยธรรมด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ควรมีการกำหนดนิยามให้ชัดเจน เพราะถ้ากฎหมายเขียนคลุมเครือไม่ชัดเจน ก็จะทำให้เป็นสมบัติส่วนตัวขององค์กรอิสระที่จะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ 

ดังนั้นควรมีการแก้ไขเพื่อกำหนดกรอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเลือกตั้ง สส. และ สว.ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ผู้ที่จะทำหน้าที่ไปตัดสินอะไร ก็ควรได้รับมอบอำนาจจากประชาชน

                                    “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน”ผนึกแก้รัฐธรรมนูญรื้อปมจริยธรรมร้ายแรง

หั่นป.ป.ช.สอบจริยธรรม

ด้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวยอมรับว่า พรรคได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนธูญรายมาตรา กลุ่มประเด็นว่าด้วยจริยธรรมทั้งระบบ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาแล้ว 

ทั้งนี้ตามกระบวนการต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อนและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระภายใน 15 วัน ดังนั้น เชื่อว่าหากจะนำเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่กำหนดไว้เบื้องต้นวันที่ 25 ก.ย.นี้อาจจะทัน

แต่ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อรัฐสภา ในสัปดาห์หน้า และมีเวลา 2-3 วัน เวลาอาจไม่พอกับการตรวจสอบและบรรจุวาระ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมวิปร่วมอีกครั้ง ซึ่งตนรับได้หากจะเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาออกไปอีก 1 สัปดาห์

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวด้วยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับล่าสุดที่เสนอนั้น เป็นรายละเอียดเรื่องจริยธรรมทั้งระบบ ซึ่งจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมดว่ามีกี่มาตรา เพราะกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องหลายมาตรา รวมถึงเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ตัดสินผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองที่เป็นนามธรรมมากเกินไป 

ทั้งนี้ในประเด็นที่แก้ไขกับอำนาจขององค์กรอิสระดังกล่าว ตามเงื่อนไขต้องทำประชามติ ซึ่งอาจเป็นการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ทั้งประเทศตามที่รัฐบาลวางไทม์ไลน์ไว้

เมื่อถามว่าบางประเด็นการแก้ไขจริยธรรมนั้น พรรคเพื่อไทยระบุว่าไม่เห็นด้วยเนื่องจากอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากจะมองแบบนั้น การแก้ประเด็นอื่นๆ  ก็อาจถูกโยงว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ทั้งสิ้น และสส.จะแก้อะไรไม่ได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สส.พรรคประชาชนได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ ผ่านฝ่ายธุระการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยในรายละเอียดเบื้องต้นนั้น สส.ของพรรคประชาชน ที่ถูกยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้สอบจริยธรรมกรณีร่วมยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งในรายละเอียดนั้นจะเป็นการยกเลิกอำนาจของ ป.ป.ช.ในการสอบจริยธรรมของ สส.
                            ++++++

ผิดจริยธรรมโทษตัดสิทธิตลอดชีวิต

“มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 และโดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 วรรคสอง กำหนดให้บังคับใช้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ คณะรัฐมนตรี ด้วยนั้น 

สาระสำคัญอยู่ที่ หมวดที่ 1-3 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานจริยธรรมที่ต้องปฏิบัติตาม

โดยหมวดที่สำคัญที่สุดคือ "หมวดที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์” ข้อ 5-10 หากใครถูกตัดสินว่าผิด จะเข้าข่ายผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่มีเนื้อหาประกอบด้วย 

ข้อ 5 ต้องยึดมั่น และธำรงไว้ซึ่งการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน 

ข้อ 7 ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน

ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือ มีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ  

ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือ ยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ 

ข้อ 10 ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับไว้

ทั้งนี้หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และ จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ