ศาลรัฐธรรมนูญตีตก 2 คำร้องล้ม เลือก สว.

22 ต.ค. 2567 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2567 | 08:08 น.

มติเอกฉันท์“ศาลรัฐธรรมนูญ”ไม่รับ 2 คำร้องล้ม เลือก สว. 2567 ทั้งประเด็นลงคะแนนขัดกฎหมาย และ การจัดเลือกไม่สุจริตเที่ยงธรรม ชี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว

วันที่ 22 ต.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาหารือคดีสำคัญ และที่สนใจของสาธารณชน โดยที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ “ไม่รับคำร้อง” ไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีกล่าวหาเกี่ยวกับการสมาชิกวุฒิสภา (เลือก สว.) ปี 2567 รวม 2 คำร้อง ได้แก่

เรื่องพิจารณาที่ ต. 48/2567 กรณีนายภิญโญ บุญเรือง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) กำหนดวิธีลงคะแนนและรูปแบบบัตรลงคะแนน โดยมิได้ใช้วิธีลงคะแนนลับ ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 6561 มาตรา 33

 

และออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 11 วรรคสอง และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 50 (10) และมาตรา 107 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 4 มาตรา 33 และมาตรา 59

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคำร้อง ผู้ร้องโต้แย้งการดำเนินการของผู้ถูกร้องทั้งสอง และการออกระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องอาจใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ เป็นกรณีที่ที่รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้อง หรือ ผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจนัย

ส่วนเรื่องพิจารณาที่ ต. 49/2563 กรณี นายคงเดชา ชัยรัตน์ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (5) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (5) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 
และการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคำร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (5) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (5) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 เป็นกรณีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และมาตรา 231 (1) 

กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 (2) ซึ่งมาตราวรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

ส่วนกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกรณีผู้ร้องขอให้ตรวจสอบการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 บัญญัติกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามพระระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสามบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา 
ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย