นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย(TGIA) เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 โดยคาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโต 4.5%-5.5% เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 282,200-287,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)จะขยายตัวได้ประมาณ 3%
ขณะที่ทั้งปี 2565 ประเมินว่าจะเติบโต 3.5%-4.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 272,000-274,600 ล้านบาท โดยการประกันภัยแทบทุกประเภทมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว
“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากถดถอยมาจากปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันผลกระทบต่าง ๆ ทั้งจากสถานการณ์การระบาดของโรค โควิด-19 ช่วงต้นปีถึงกลางปี และความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน เห็นได้จากหน่วยงานทางเศรษฐกิยได้ปรับประมาณเติบโตทางเศรษฐกิจลงโดยคาดว่าทั้งปีนี้จีดีพีจะเติบโต3%”
นอกจากทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้อธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนแล้ว สมาคมยังมีเป้าประสงค์ให้ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมีการเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน
จึงดำเนินตามพันธกิจที่รับผิดชอบ 3ด้านหลักตามแนวคิดESG โดยสนับสนุนโครงการที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลื โดยเฉพาะการดำเนินโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ภายใต้ชื่อโครงการ “ธนาคารน้ำใต้ดิน”เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม โดยร่วมกับสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณโดยพระนิเทศศาสนคุณ(หลวงพ่อสมาน สิริปันโญ)ตั้งแต่ปี 2562โดยคืบหน้าใช้เงินงบประมาณไปกว่า 60ล้านบาทแล้ว
นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเสริมว่า ผลประกอบการของธุรกิจประกันวินาศภัยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์ 75,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ประกันอัคคีภัย 5,325 ล้านบาท ลดลง 3.4%
ประกันภัยทางทะเลและขนส่งมีจำนวน 3,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% ประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีจำนวน 48,411 ล้านบาท ลดลง 0.8% โดยลดลงจากการที่เบี้ยประกันภัยโควิด-19 กว่า 6,000 ล้านบาทหายไปจากตลาด ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 1,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 238.6% โดยเป็นผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตลอดจนการเปิดประเทศและการคลายกฎระเบียบต่าง ๆ
สำหรับอัตราความเสียหาย(Loss Ratio)ของการประกันวินาศภัยประเภทต่างๆเมื่อไตรมาส 2 ของปีนี้ พบว่า อัตราความเสียหายโดยรวมของการประกันภัยทุกประเภท เท่ากับ 121.0% โดยอัตราความเสียหายของการประกันภัยรถยนต์เท่ากับ 55.3% อัตราความเสียหายของการประกันอัคคีภัยเท่ากับ 21.9%
อัตราความเสียหายของการประกันภัยทางทะเลเท่ากับ 36.6% และอัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดเท่ากับ 300.9% โดยสาเหตุที่อัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดสูงขึ้นมากนั้นเป็นเพราะรวมความเสียหายของการประกันภัย โควิด-19 ในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงมาก
ส่วนโครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2564 ที่กำลังจะสรุปปิดโครงการนั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 3,823.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งหมดของการประกันภัยทุกประเภท โดยเป็นเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี 3,568.4 ล้านบาท และ
เบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 255.3 ล้านบาท ส่วนอัตราความเสียหายของการประกันภัยข้าวนาปี 47.8% ขณะที่อัตราความเสียหายของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่ากับ 22.5%