กรุงเทพมหานครคาดการณ์ ว่า ในแต่ละปีการจัดเก็บรายได้ จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะลดลงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับภาษีโรงเรือนที่เคยจัดเก็บได้เฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท จากความยืดหยุ่นของกฎหมาย เปิดช่องให้ เจ้าของที่ดินนำที่ดินที่ไม่ทำประโยชน์ปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า สามารถ ปลูกพืชทำการเกษตรลดทอนภาระภาษีได้ จึงเป็นเหตุให้ แลนด์ลอร์ด ต่างสบช่องนำที่ดินออกปลูกพืชล้มลุก กล้วย มะละกอ สร้างความฮือฮาที่สุดสวนมะนาวบนที่ดินแปลงรัชดาฯมูลค่า 10,000 ล้านบาท เชื่อว่านับจากนี้ที่ดินว่างเปล่าทุกแปลง จะเต็มไปด้วยพืชไร่ ทำให้ท้องถิ่นอย่างกทม.พลาดรายได้ ทางออกจึงต้องออกสำรวจครั้งใหญ่ ว่า ที่ดินรกร้างมีมากน้อยแค่ไหน จากที่ผ่านมา สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองกทม. (สำนักผังเมือง) ได้สำรวจพื้นที่ กทม. ครอบคลุม 1,500 ตารางกิโลเมตร พบว่า 10 ปีก่อน มีที่ดินรกร้าง ว่างเปล่ามากถึง 18% ของพื้นที่ทั้งหมด และในช่วง ปรับปรุงผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่ พบว่าพื้นที่รกร้างกลับลดลง จากการยุบรวมแปลงที่ดินเหลือ 6-7% หรือประมาณกว่า 60,000 ไร่
กทม.รีดทุกเม็ด
นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่ากทม. กล่าวว่า สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองกทม. (สำนักผังเมืองเดิม) เตรียมบินสำรวจพื้นที่ในเขตกทม.ตรวจสอบว่า มีที่ดินรกร้างว่างเปล่ามากน้อยแค่ไหน เพื่อสนับสนุนให้สำนักการคลังกทม.นำไปขึ้นทะเบียน เรียกเก็บภาษีที่ดินอย่างถูกต้องแม่นยำต่อไป อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ใช้ในปัจจุบัน สำนักวางผังฯสำรวจไว้ ก่อนจะพิจารณาปรับปรุงผังเมืองรวมฉบับใหม่ จึงพบว่าในพื้นที่เขตกทม.ยังมีที่ว่างซื้อที่ดินไม่ทำประโยชน์อยู่มาก สำหรับแง่ดีของภาษีที่ดิน ช่วยให้เจ้าของที่ดินตื่นตัว นำที่ดินทำประโยชน์ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่มุมกลับกัน กทม.มีการประเมินรายได้ที่จะจัดเก็บ ในปี 2563 ว่าจะมีรายได้ลดลงไม่ตํ่ากว่า 50% เพราะความยืดหยุ่นของกฎหมาย และ ความพลิกแพลงของเจ้าของที่ดิน อย่างที่ดินแปลงรัชดาฯ-พระราม 9 ที่นำที่ดินที่มีมูลค่าสูงไปปลูกมะนาว ทันก่อนการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เสียภาษีในอัตราเกษตร แต่ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจะเป็นตัวแปรทำให้ราคาที่ดินบริเวณนั้นสูง ราคาประเมินของทางราชการจึงสูงตามไปด้วย อย่างน้อยก็ยังสามารถเก็บรายได้ได้แม้จะน้อยกว่าที่ควรจะเป็นก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงที่ดินแปลง รัชดาฯ-พระราม 9 ยังมีที่ดินหลายแปลง เช่น ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ ที่ นำที่ดินออกทำสวน ส่วนพื้นที่หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา พบว่ามีที่ว่างมากถึง 1 ใน 4 -1 ใน 5 ของพื้นที่เขต บางแปลงนำที่ดินขุดหน้าดินขาย บ่อละ 200-300 ไร่ รวมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ลักษณะนี้อยู่ในข่ายเสียภาษีรกร้างว่างเปล่า
นายศักดิ์ชัย ยืนยันว่า ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในกทม.ยังมีอยู่มาก แม้แต่ถนนสายหลัก ส่วนใหญ่จะอยู่ด้านหลังของอาคารสูง ซึ่งเป็นซอยแคบไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้ บางแปลงติดกฎหมายผังเมือง เขตทางตามกฎหมายควบคุมอาคาร บางแปลงเป็นที่ดินตาบอด ไม่มีใครสนใจซื้อ เจ้าของจึงปล่อยทิ้ง นอกจากนี้ที่ดินบางแปลงเป็นที่นาที่ร่องสวนเก่า ลูกหลานไม่ทำประโยชน์ต่อจากบรรพบุรุษ ปล่อยทิ้งกลายเป็นป่า ไม่มีราคาขายออกยาก เช่น ย่านฝั่งธน ยังมีที่ดินในลักษณะนี้หลายแปลงซ่อนตัวอยู่ด้านใน
นานา -เจ้าสัวเจริญไม่รอด
ส่วนที่ดินแลนด์ลอร์ดย่านฝั่งธน เขตคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบที่ดินแปลงงามตระกูลนานาซื้อที่ดินปล่อยเป็นป่ารกทึบติดสวนสมเด็จย่า เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เนื่องจากติดกฎหมายควบคุมอาคารห้ามก่อสร้างเช่นเดียวกับตระกูล
บุนนาค ซื้อที่ดินใกล้กับแปลงของตระกูลนานา ปัจจุบันถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่ากทม. ระบุว่า เคยพบนักลงทุนยักษ์ใหญ่รายหนึ่งซื้อที่ดินกระจายทั่วไปแต่กลับจำไม่ได้ว่าแปลงที่ดินของตนเองอยู่บริเวณไหนบ้าง แต่ไม่ใช่กลุ่มไทยเบฟ
แหล่งข่าวจากสำนักงานเขตลาดพร้าว ระบุว่า ที่ดิน ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ล้อมรั้วที่ดิน 100-200 ไร่ ทำเลติดถนนเกษตร-นวมินทร์ อยู่ในข่ายเสียภาษีในอัตราที่ว่างเปล่า เพราะไม่มีการปลูกต้นไม้ สร้างอาคาร มีเพียงเสาตอม่อที่สร้างทิ้งไว้ เท่านั้น เช่นเดียวกับบริษัทสยามประชาไทย ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ติดกับแปลงของเจ้าสัวเจริญเข้ามายังสำนักงานเขต เพื่อยืนยันว่าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่ายอมเสียภาษีในอัตรา 0.3%
แหล่งข่าวจากสำนักงานเขตบางกะปิ ระบุว่า พื้นที่เขตบางกะปิครอบคลุม แขวงหัวหมาก กับแขวงบึงกุ่ม รวม 18 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่มีสิ่งปลูกสร้างเกือบเต็มพื้นที่ ที่ดินบางแปลง เจ้าของไม่ยินยอมขาย นำไปทำสวนเกษตร ขุดบ่อเลี้ยงปลา ตัดถนนเชื่อมรอบบ่อ ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตร ใช้เพื่อการเรียนรู้ อยู่ใกล้กับแอร์พอร์ตลิงค์ไปทางศรีนครินทร์
ส่วนที่ดิน แปลงว่างของ บมจ.พฤกษา ทำเลแฮปปี้แลนด์ เนื้อที่ 12 ไร่ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นที่ว่างเปล่า เป็นต้น
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2563