เตือน! ไม่ชำระ "ภาษีที่ดิน" โฉนด ถูกระงับโอน

15 ก.ย. 2563 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2563 | 11:24 น.

เตือน ! ไม่ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำนักงานที่ดิน พื้นที่ มีสิทธิ์ ระงับทำนิติกรรม จำหน่าย-จ่าย-โอน จนกว่า จะเสียภาษี พร้อมเบี้ยปรับ

   ใคร ไม่ชำระภาษีที่ดิน พึงระวัง โฉนด อาจถูกระงับ การทำนิติกรรม จำหน่าย-จ่าย-โอน ทั้งนี้  พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2563 แต่ด้วยกระทรวงมหาดไทยยังไม่สามารถออกกฎหมายลูกออกมารองรับการบังคับใช้ได้ทันเพราะกฎหมายนี้เป็นกฎหมายใหม่ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 และจึงทำให้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายลูกล่าช้า รัฐบาลจึงเลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563

 

นั่นคือ ภายในสิ้นเดือนนี้ แต่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน  คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ลดภาษีที่ดินฯ ของปี 2563 ลง 90% เพราะภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 นั่นเท่ากับว่าคนที่ต้องเสียภาษีที่ดินฯในเดือนสิงหาคม จะเสียเพียง 10% ของภาระภาษีที่ต้องเสียจริงๆ ตามหลักเกณฑ์ แต่การเลื่อนมาเป็นเดือนสิงหาคม นั้นเป็นเพียงภาษีสำหรับปีนี้เท่านั้น ปี 2564 ถ้าไม่มีการประกาศเลื่อนกำหนดการเสียภาษีก็ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2564 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นจำนวนมาก กรุงเทพมหานครออกใบแจ้งการประเมินไม่ทันได้ขยายการชำระภาษีออกไปถึงเดือนตุลาคม พร้อมทั้งเปิดให้ผ่อนชำระภาษีได้ หากเกิน 3,000 บาท 
 

 นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ระบุว่า  ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มได้รับจดหมายแจ้งเตือนให้มาเสียภาษีที่ดินฯกันแล้ว ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่เสียภาษีฯ นี้ เพราะในพระราชบัญญัตินี้ระบุไว้ว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท จะไม่เสียภาษีที่ดินฯ แต่ยกเว้นให้เฉพาะที่อยู่อาศัยหลังแรกเท่านั้น

 

ดังนั้นใครที่มีที่อยู่อาศัยหรือบ้านหลายๆ หลังก็ย้ายชื่อตนเองเข้าไปในทะเบียนบ้านที่มีมูลค่าสูงที่สุดที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ สำหรับบ้านที่มีมูลค่าสูงซึ่งการที่พระราชบัญญัติกำหนดให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ นั้น

 

เท่ากับว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยทั่วไปไม่ต้องเสียภาษีที่ดินฯเลย ยกเว้นคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งภาระภาษีที่ดินฯ สำหรับพวกเขาคงไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าใด 

 

นักลงทุนหรือคนที่เก็งกำไรในคอนโดมิเนียมก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของภาษีที่ดินฯ มาก่อนก็จำเป็นต้องมีต้นทุนในการถือครองคอนโดมิเนียมหรือบ้านที่เป็นบ้านหลังที่สองเป็นต้นไปมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ภาระของเจ้าของอาคารสำนักงานหรือโครงการพื้นที่ค้าปลีก โรงแรม อพาร์ตเมนต์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ที่อาจจะตีความว่าเป็นการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชยกรรมก็ต้องเสียภาษี 0.3-0.7% ตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายกล่าวว่าภาระภาษีที่ดินฯ ที่ต้องเสียนี้ไม่ได้แตกต่างจากที่พวกเขาเสียก่อนหน้านี้เท่าใดนัก

 

เพราะก่อนหน้านี้เสียภาษีโรงเรือนี่อัตรา 12.5% การรายได้พึงประเมิน ซึ่งแน่นอนว่ามีวิธีการในการประเมินที่ไม่ได้มาตรฐานหรือแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตแต่การคิดภาษีที่ดินฯ โดยอ้างอิงจากมูลของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบนี้มีผลให้ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการเพื่อการพาณิชยกรรมทั้งหลายไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาระตรงนี้ แต่อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้คือ ภาระภาษีที่ดินฯตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้เพิ่มภาระให้กับพวกเขา

 

ยกเว้นโครงการที่อยู่ในพื้นที่ที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอาจจะสูงเกินกว่าการใช้ประโยชน์ในปัจจุบันก็มีความเป็นไปได้ที่ภาระภาษีที่ดินฯ ของโครงการดังกล่าวอาจจะมากขึ้นเมื่อเทียบกับการประเมินภาษีแบบเดิม     
  

 

 

 หากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายใดไม่เสียภาษีที่ดินฯ ตามที่โดนเรียกเก็บจะโดนสำนักงานที่ดินระงับการโอนกรรมสิทธิ์ ทำนิติกรรมต่างๆ ที่สำนักงานที่ดินไม่ได้ ขายให้ใครไม่ได้นั่นเองจนกว่าจะชำระภาษีที่ดินฯ ให้ถูกต้อง

 

นอกจากนั้นยังเสียเบี้ยปรับในอัตรา 10-40% ของภาษีที่ค้างชำระซึ่งเบี้ยปรับจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าชำระภาษีล่าช้ามากแค่ไหน อีกทั้งใครก็ตามที่เสียภาษีล่าช้าจะโดนปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 1% ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ค้างชำระดังนั้นหลังจากเดือนสิงหาคม 2563 ห้ามลืมชำระภาษีที่ดินฯ และตรวจสอบด้วยว่าในท้องถิ่นขยายการชำระออกไปถึงเดือนไหน สำหรับคนที่ต้องชำระเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นสำหรับคนไทย 

หน้าที่ 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,609 วันที่ 13 - 16 กันยายน พ.ศ. 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

‘ภาษีที่ดิน’  โยนภาระ " ผู้เช่า-คนซื้อบ้านมือ2" แบกอ่วม !

โขก "ภาษีที่ดิน" ปี 64  "ราคาประเมินใหม่" พุ่งเท่าตัว

“อสังหาฯ" ทรุดหนัก รัฐบาลต้องช่วย!

“ภาษีที่ดิน”ป่วน! ฮือฮา จุฬาฯ –ห้างยักษ์ ยื่นพรึบขอผ่อน