ระเบียงเศรษฐกิจอีสานเหนือในฐานะศูนย์กลางบริการอินโดจีน(1) 

25 ก.พ. 2564 | 18:30 น.

บทความ 

ฐาปนา บุณยประวิตร

นายกสมาคมการผังเมืองไทย

และเลขานุการกฎบัตรไทย

[email protected]

ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดเป้าหมายให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางการค้าและนวัตกรรมอินโดจีน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้วางแผนผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ จะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีตำแหน่งเป็นศูนย์กลางอินโดจีน เหมาะสมที่จะยกระดับเป็นศูนย์เศรษฐกิจนวัตกรรมและกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อนุภูมิภาครอบข้าง 

แต่การจะเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจที่สมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกำหนดแผนการพัฒนารูปแบบทางเศรษฐกิจเสียใหม่ โดยใช้ความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งสร้างระบบการเชื่อมต่อประสิทธิภาพสูง ตุ้นทุนต่ำ ใช้ทรัพยากรทุกสาขาในพื้นที่อนุภูมิภาคเป็นแหล่งผลิตและบริการ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเป็นคู่แข่งทางการค้าให้เป็นพันธมิตรในระเบียงเศรษฐกิจเพื่อร่วมค้า กระตุ้นการลงทุนและร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมการยกระดับสมรรถนะบุคลากรในสาขาการผลิตให้กับประเทศพันธมิตร เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจขนาดใหญ่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจของภาค แบ่งเป็นพื้นที่เกษตร 58% และป่าไม้ 12% มีประชากร 22 ล้านคน กำลังแรงงาน 9.5 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานภาคเกษตร 4.9 ล้านคนและนอกภาคเกษตร 4.5 ล้านคน ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานผลิตภัณฑ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2561 มีมูลค่า 1.56 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 9.5% เทียบจากผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ โดยเติบโต 4.2% ผลิตมวลรวมระดับภาคและจังหวัด (GRP) จำแนกตามสาขาเศรษฐกิจ พบสาขาอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงสุดที่ 22% รองลงมาเป็นการเกษตร 20% การค้า 14% การศึกษา 13% อสังหาริมทรัพย์ 9% การเงินการประกันภัย 7% บริหารราชการ 5% และอื่นๆ 10%

ระเบียงเศรษฐกิจอีสานเหนือในฐานะศูนย์กลางบริการอินโดจีน(1) 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตามธรรมชาติที่เชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหรือ สปป.ลาว โดยพื้นที่ระเบียงกระจัด กระจายตามแนวชายแดน หากนับจุดเชื่อมต่อด้วยจุดผ่านแดน จะมีจุดเชื่อมต่อทั้งสิ้น 47 จุด แบ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวร 15 จุด จุดผ่านแดนชั่วคราว 1 จุด และจุดผ่อนปรน 31 จุด เฉพาะระเบียงเศรษฐกิจธรรมชาติที่มีการค้าขายข้ามแดนและมีมูลค่าเศรษฐกิจสูงมีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่จังหวัดหนองคาย มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์ เป็นจุดเชื่อมต่อ พื้นที่จังหวัดมุกดาหาร มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขตเป็นจุดเชื่อมต่อ พื้นที่จังหวัดนครพนม มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วนเป็นจุดเชื่อมต่อ และพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีด้านพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธรเป็นจุดเชื่อมต่อ

ที่เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจตามธรรมชาตินั้น ผู้เขียนหมายถึง ระบียงเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับการวางแผนและการออกแบบตามหลักวิชาการผังเมือง โดยระเบียงเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานต้องใช้เกณฑ์การวางแผนที่ถูกต้อง การสร้างความร่วมมือในหลายระดับจากเครือข่ายพันธมิตรการค้า (รายละเอียดการสร้างความร่วมมือให้ศึกษาได้จากธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อร่วมกัน การร่วมกันยกระดับศักยภาพและสมรรถนะ และการขจัดปัญหาอุปสรรคด้านการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากกฎหมาย ระเบียบและข้อกำหนด นอกจากนั้น ระเบียงเศรษฐกิจที่ได้มาตรฐาน จะต้องออกแบบการใช้ประโยชน์ทรัพยากร ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การจำแนกส่วนพื้นที่พัฒนาประเภทต่างๆ และการบริหารจัดการที่พิเศษแตกต่างไปจากการวางแผนและการออกแบบเมืองโดยทั่วไป ซึ่งเกณฑ์และแนวทางในการวางแผนและการออกแบบระเบียงเศรษฐกิจจะนำมากล่าวในบทความฉบับต่อไป

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระเบียงธรรมชาติที่มีโอกาสในการพัฒนาเป็นระเบียงเศรษฐกิจนานาชาติได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจอีสานเหนือ ซี่งแบ่งพื้นที่ระเบียงออกเป็นสองกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มศูนย์เศรษฐกิจหลักตามแนวระเบียง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และจังหวัดหนองคาย และกลุ่มพื้นที่สนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจ จำนวน 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำพู บึงกาฬ และสกลนคร โดยพิจารณาความเหมาะสมจากปัจจัย 6 ด้าน ดังนี้

ปัจจัยแรก ความสัมพันธ์ของกิจกรรมเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพบว่า จังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานีต่างมีกิจกรรมเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการค้ากับ สปป.ลาวอยู่แล้วตั้งแต่อดีต เฉพาะจังหวัดอุดรธานี ในสาขาค้าปลีกค้าส่ง ไม่น้อย 30% เทียบจากมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากประชากรของ สปป.ลาว

ปัจจัยที่สอง ขนาดเศรษฐกิจ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และจังหวัดอุบลราชธานี หากรวมมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดทั้งสี่จะเท่ากับ 47.6% หรือมีมูลค่าเกือบครึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมจากทั้งภาค ทั้งนี้ ได้จัดให้ 3 จังหวัดแรกอยู่ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเดียวกัน แต่เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาอยู่ในฐานะศูนย์เศรษฐกิจระดับภาคที่กระจายผลิตภัณฑ์ไปยังพื้นที่สองระเบียงคือระเบียงอีสานเหนือและระเบียงอีสานใต้ ในทางยุทธศาสตร์ จึงขอนำจังหวัดนครราชสีมาไปเป็นพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจหลักของระเบียง
อีสานใต้ 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ที่มา : หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564